ความยืดเยื้อของปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ความสับสนในข้อกฎหมาย สัญญาจ้างเดินรถ กับค่าโดยสารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่ยังตกลงกันไม่ได้มา 3 ปีกว่าแล้ว และล่าสุด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหา อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมถึง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) และผู้บริหารบริษัทรวม 13 ราย กรณีการว่าจ้างบริษัท BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ไปถึงปี 2585 เข้าข่ายฮั๊วประมูล เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดียว
ล่าสุด สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดทำข้อเสนอนโยบายรถไฟฟ้าหลากสีให้ "ขนส่งมวลชนทุกคนขึ้นได้ทุกวัน" ติดตามการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวและการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มมาอย่างต่อเนื่อง เห็นว่า ต้องมีการจัดการปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยมีข้อเสนอต่อรัฐบาลและต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ขอเป็นคนกลางร่วมเจรจากับรัฐบาล กรุงเทพมหานคร และบีทีเอส จัดทำสัญญาใหม่ภายใต้สัญญาสัมปทานเดิม เป็นการเจรจาแก้ปัญหา ไม่ให้ยืดเยื้อไปกว่านี้ ไม่ให้ส่งผลกระทบถึงขั้นต้องหยุดการเดินรถ ไม่ให้ผู้โดยสารต้องเดือดร้อน
เรื่องนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีการพูดคุยกับสภาผู้บริโภคอยู่บ่อยครั้ง ก็ยินดีที่จะมาช่วยกรุงเทพมหานคร ทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน