ขยี้ข่าวใหญ่ : สส.โรม ร้องตรวจสอบความผิดปกติคดี สว.ทรงเอ

View icon 37
วันที่ 18 มี.ค. 2566 | 12.01 น.
ข่าวเด็ด 7 สี
แชร์
ข่าวเด็ด 7 สี - ขยี้ข่าวใหญ่ วันนี้ เป็นคดีที่ผมตามขยี้มาตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังมีการจับกุมเครือข่ายค้ายาเสพติดและฟอกเงินของนายทุน มิน หลัด และพวกรวม 4 คน ตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว จนถูกส่งฝากขังและควบคุมตัวในเรือนจำไปหลายผัด ซึ่งหลายคนคิดว่าจบไปแล้ว

แต่การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติล่าสุดที่ผ่านมา มีการแฉว่า มีสิ่งไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น เพราะในการสืบสวนสอบสวนยังมีพยานหลักฐานไปถึง สมาชิกวุฒิสภา 1 คน ซึ่งในการอภิปรายใช้คำว่า สว.ทรงเอ ซึ่งตำรวจได้ไปขอศาลออกหมายจับและศาลก็ออกหมายให้ในตอนเช้า แต่บ่ายวันเดียวกันโดนศาลถอนหมายจับ และให้ตำรวจเปลี่ยนไปออกหมายเรียกแทน แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีหมายเรียกหรือหมายจับออกมาแม้แต่ครั้งเดียว คดีนี้อัยการและตำรวจกำลังทำอะไรอยู่ ผมได้มีโอกาสไปติดตามข้อเท็จจริง และคำชี้แจงจากแต่ละฝ่าย มาขยี้ให้คุณผู้ชมได้ติดตามกัน

จริงๆ ความเคลื่อนไหวนี้นาย รังสิมันต์ โรม สส.พรรคก้าวไกล ไปยื่นให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต. ตรวจสอบ ผู้พิพากษา และบุคคลที่พิจารณาเพิกถอนหมายจับ สว.คนนี้ อีกทั้งจะยื่นให้ ปปช.เอาผิดในสัปดาห์หน้า ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เขามองว่า เรื่องนี้มีความผิดปกติ เพราะในวันที่ตำรวจสืบสวนนครบาล 4 นาย ในขณะนั้นนำพยานหลักฐานไปขอให้ศาลออกหมายจับ สว.คนนี้ กับผู้พิพากษาเวร และได้ออกหมายจับหมายค้นให้

แต่พอช่วงบ่ายกลับถูกเรียกตัวไปถอนหมายจับ แล้วให้ไปออกหมายเรียกแทน มีหลักฐานสำคัญ คือ เอกสารการแสดงความเห็นของผู้บริหารคนหนึ่งในศาล แนะนำองค์คณะผู้พิพากษาให้ถอนหมายจับ เพราะผู้ต้องหาเป็นบุคคลมีชื่อเสียง มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ทั้งที่ช่วงนั้นยังไม่เปิดสมัยประชุมสภาฯ

ตร.แจงไทม์ไลน์ ออก-ถอนหมายจับ สว.ทรงเอ
เรื่องราวการถอนหมายจับในวันนั้น ยังไปสอดรับกับเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการร้องขอออก และการเพิกถอนหมายจับ สว.คนดัง ของหนึ่งใน 4 ตำรวจที่ไปขอหมายจับ ที่ส่งถึงกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม จำนวน 7 หน้า ที่หลุดออกมาเผยแพร่สู่โลกออนไลน์ ตามเอกสารที่หลุดออกมา ไล่เป็นไทมไลน์ไว้อย่างชัดเจน แถมยังพบสิ่งผิดปกติในระหว่างการขอและถอนหมายจับ

เริ่มตั้งแต่วันเข้าจับกุมนายทุน มิน หลัด กับพวกรวม 4 คน เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2565 ทั้งหมดให้การว่า สว.คนดัง เกี่ยวข้องกับเครือข่ายนี้ ก่อนจะให้กองบังคับตำรวจปราบปรามยาเสพติด 3 ขยายผล

สิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น คือ มีนายตำรวจระดับสูง ให้ตัดพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับส.ว.ออก แต่ตำรวจชุดนี้เห็นควรให้ดำเนินคดี เพราะมีหลักฐานชัดเจน

จึงรวบรวมหลักฐานไปขอศาลอาญาออกหมายจับ เมื่อวันที่ 3 ตลุาคม 2565 โดยผู้พิพากษาเวร ก็ออกหมายจับและหมายค้น ตอน 11.00 น.

ความผิดปกติอีกอย่าง คือ ตอนบ่ายโมงครึ่ง ศาลฯ ให้นำหมายจับกลับไปที่ศาลฯ ให้ถอนหมายจับ แต่ทางพนักงานสอบสวนไม่ยอม

กระทั้งอธิบดีผู้พิพากษาให้มีการถอนหมายจับ และให้ตำรวจออกหมายเรียกมาแจ้งข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน แทน

ต่อมาวันที่ 4 ตุลาคม 2565 พนักงานสอบสวนได้นำหลักฐานไปส่งให้พนักงานสอบสวน ปส.3

และตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน 166 วัน ก็ไม่เคยมีการออกหมายเรียก หรือหมายจับ สว.คนนั้น มารับทราบข้อหาอีก

แล้วใน 166 วันนี้ ทำไมถึงยังไม่มีการทำอะไร ผมได้ลงไปหาคำตอบเรื่องนี้ไล่เรียงตามลำดับไป เริ่มจากตำรวจ ปส.3 ที่รับคดีไปเป็นขั้นตอนสุดท้ายตามไทม์ไลน์เมื่อซักครู่และส่งให้อัยการ จนทราบว่า คดีมีอุปสรรคเกิดขึ้นหลายอย่างจนทำให้ยังไม่สามารถออกหมายเรียกหรือหมายจับได้

อัยการ - ตร. ประสานเสียงคดี สว.ทรงเอ คืบหน้า
ผมได้คุยกับ พลตำรวจตรี คมสิทธิ์ รังไสย์ ผู้บังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 3  ซึ่งรับผิดชอบคดีนี้  และนาย โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า คดีนี้อัยการรับเป็นคดีนอกราชอาณาจักร และมีอัตราโทษสูงถึงประหารชีวิตจึงตรวจสอบอย่างละเอียด แถมผู้ต้องสงสัยยังร้องขอความเป็นธรรม จึงยังไม่ออกหมายเรียก หมายจับ หรือแจ้งข้อหา อีกทั้งคณะทำงานฯ ต้องตรวจสอบพยานหลักฐานถึง 4 ประเด็น ตรวจสอบเสร็จไปแล้ว 3 เหลืออีกแค่ 1 ประเด็น ใครที่ตั้งตารออยู่ ให้จับตาภายในสิ้นเดือนนี้ ถ้าได้ทุกประเด็นครบ ก็จะมีคำตอบให้ตามทุกคนรอ

ถ้าฟังจากทั้ง 2 ท่าน อุปสรรคสำคัญในคดีนี้ที่ทำให้ยังไม่สามารถออกหมายเรียกหรือหมายจับได้

อย่างแรก คือ การติดสมัยประชุมสภา ที่ไม่สามารถออกหมายเรียกหรือหมายจับได้ เพราะส.ว.มีเอกสิทธิ์คุ้มครอง

เหตุผลต่อมา คือ สำนักงานอัยการสูงสุด รับคดีนี้เป็นคดีนอกราชอาณาจักร จึงกลายเป็นการทำงานร่วมกัน 2 ฝ่ายระหว่างอัยการและตำรวจ ในรูปแบบคณะทำงาน ทำให้มีขั้นตอนการทำงานเพิ่มขึ้น

ส่วนต่อมา คือ มีพยานหลักฐานจำนวนมากที่ต้องตรวจสอบ อาทิ บัญชีธนาคารทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 500 บัญชี ซึ่งมีเส้นทางการเงินไปถึง

ไม่เท่านั้น ผู้ถูกกล่าวหา ยังร้องขอความเป็นธรรมให้อัยการตรวจสอบหลักฐาน ซึ่งเป็นแชท 5,000 ข้อความ 1,000 แผ่น ในภาษาต่าง ๆ เพิ่มงานให้ตำรวจและอัยการต้องไปพิจารณา ย้ำว่าถ้าตรวจสอบหมดสิ้นเดือนนี้เราอาจได้เห็นความคืบหน้าที่ทุกคนรอคอย

แต่ใช่ว่าจะมีความเคลื่อนไหวแค่ตำรวจหรืออัยการ ฝั่งของส.ว.อุปกิตที่นิ่งเงียบมานาน ก็ออกมาชี้แจงทั้งน้ำตาเลย

สว.อุปกิต ยืนยันความบริสุทธิ์ ไม่มีใครเคลียร์คดี
ยืนยันไม่ได้มีอภิสิทธิ์ เหนือกฎหมาย และยืนยันว่า ไม่ได้มีหุ้นในบริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป จำกัดแล้ว

ส่วนเรื่องที่บอกว่า มีตำรวจผู้ใหญ่ช่วยเหลือคดีมองว่า ถ้ามีคนช่วยจริงคงมีคนช่วยตั้งแต่คดีของหลานชาย คดีนี้ก็ไม่ได้มีใครมาช่วย พร้อมกับยืนยันว่ายังไม่ลาออกจากตำแหน่ง สว. เพราะถ้าลาออกก็เหมือนยอมรับว่าผิดจริง

สว.อุปกิต ร้องศาลตรวจหลักฐานขอหมายจับ
นอกจากนี้นายอุปกิต ยังให้ทนายความไปยื่นร้องขอความเป็นธรรม ให้อธิบดีศาลยุติธรรม ตรวจสอบพยานหลักฐานที่ตำรวจ 4 นาย นำมาขอศาลออกหมายจับนายอุปกิตเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ว่า มีการบิดเบือนข้อเท็จริงหรือไม่ โดยเฉพาะแชทระหว่างผู้ต้องหากับนายอุปกิต ภาษาอังกฤษและภาษาเมียนมา ซึ่งทีมทนายพบว่า มีการแปลที่ไม่ถูกต้องจนทำให้ผู้พิพากษาเวรเชื่อจนออกหมายจับ และสัปดาห์จะไปร้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เอาผิดตำรวจที่เกี่ยวข้องด้วย

คงต้องจับตาในช่วงสิ้นเดือนนี้ ว่าอัยการกับตำรวจ จะตรวจสอบพยานหลักฐานทั้งหมดในประเด็นสุดท้ายทันหรือไม่ และในห้วงเวลานี้จะมีอุปสรรคขวากหนามใดเข้ามาทำให้คดีสะดุดลงกลางทางอีกหรือเปล่า รวมไปถึงการผลตรวจสอบของกต.ศาลว่า ตกลงแล้วการเพิกถอนหมายจับคดีนี้จะถูกต้องหรือไม่ เพราะแน่นอนว่ากระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม