หมอกควันปกคลุม ค่าฝุ่นพื้นที่ชายแดนเพิ่มสูง จ.บึงกาฬ

View icon 72
วันที่ 19 มี.ค. 2566 | 05.02 น.
สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์
แชร์
สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - แนวโน้มค่าฝุ่น ในพื้นที่ภาคอีสานยังน่าเป็นห่วง มีหมอกควันที่พัดเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ แพทย์เผยข้อมูล พบผู้ป่วยมะเร็งปอดเพิ่มสูงขึ้น

ค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคอีสานยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีแนวชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ บึงกาฬ, หนองคาย, เลย และ นครพนม 

เมื่อวานนี้ หมอกควันไฟป่าลอยกลับมาปกคลุมอีกครั้ง หลังจากฝนตกและลมพัดแรงก่อนหน้านี้ ท้องฟ้าขมุกขมัว โดยเฉพาะเรือที่ข้ามสัญจรไทย-ลาว ต้องเดินเรือด้วยความระวัง ค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ระดับสีส้ม และ สีแดง สาเหตุยังคงมาจากการเผาเศษวัชพืชในพื้นที่การเกษตรทั้งฝั่งไทย และฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ต้องประสานขอความร่วมมือ ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ช่วยลดการเผา แก้ปัญหาฝุ่นหมอกควัน

ส่วนพื้นที่ ภาคเหนือคุณภาพอากาศ มีแนวโน้มดีขึ้นจากเดิม เพราะมีลมฝนมาช่วยบรรเทา คุณภาพอากาศส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง และเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อย่างเมื่อวานนี้ สูงสุดที่ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน วัดได้ 81 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ขณะที่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล แนวโน้มอากาศดีขึ้น เป็นสีเขียว และ สีฟ้า คุณภาพอากาศดีถึงดีมาก ประชาชนสามารถออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้งได้

ฝุ่น PM2.5 ทำผู้ป่วยมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น
ปัญหาฝุ่นพิษ เป็นวาระด้านสุขภาพของคนไทยที่ต้องเร่งแก้ไข มีข้อมูลจาก เวทีเสวนา "จากรากฐาน สานต่อ ก่อกาลไกล สู่ก้าวไปด้วยกัน" โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานกรรมการ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล เผยความรุนแรง ฝุ่น PM2.5 ต้องผลักดัน แก้ไข ให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างจริงจัง 

โดยงานวิจัยจากประเทศอังกฤษ บ่งชี้ว่า ผู้ป่วยมะเร็งปอดมีเพิ่มมากขึ้น จากสภาพอากาศในประเทศที่ย่ำแย่ จนชาวเมืองบางคนกลายเป็นโรคมะเร็งปอด สอดคล้องกับผลสำรวจของโรงพยาบาลศิริราช พบว่า คนไทยป่วยมะเร็งปอดมากขึ้น แต่ไม่ได้มาจากการสูบบุหรี่ หรือ สูดดมควันบุหรี่มือสอง

สำหรับ โรคมะเร็งปอด ถือว่าเป็นสาเหตุเสียชีวิตอันดับ 2 ในผู้ชาย รองจากโรคมะเร็งตับ และเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง เนื่องจากเป็นโรคที่ตรวจคัดกรองได้ยากในระยะแรก กว่าผู้ป่วยจะทราบผลก็ผ่านมาหลายระยะ ยากต่อการรักษาให้หายขาด

ปัจจุบันสถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยค่อนข้างสูง มีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ 139,206 คนต่อปี และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 84,073 คนต่อปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง