มิจฉาชีพแฝงเป็นบริษัทจัดหางาน หลอกทดลองงาน เสียหายแล้ว 3.3 พันล้าน

มิจฉาชีพแฝงเป็นบริษัทจัดหางาน หลอกทดลองงาน เสียหายแล้ว 3.3 พันล้าน

View icon 1.2K
วันที่ 19 มี.ค. 2566 | 09.34 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
มิจฉาชีพแฝงเป็นบริษัทจัดหางาน หลอกทดลองงาน หว่านล้อมให้เติมเงิน สร้างสตอรีหลอกใหม่ แค่เพียง 11 วัน แจ้งความตำรวจไซเบอร์ โดนหลอกเกือบ 3 หมื่นเรื่อง เสียหาย 3.3 พันล้าน ตัวอย่างบทสนทนาเป็นแบบไหนเช็กได้เลย

มิจฉาชีพแฝงมาในรูปแบบบริษัทจัดหางาน หลอกทดลองงาน วันนี้ (19 มี.ค.66) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เตือนภัยมิจฉาชีพโทรศัพท์ไปยังผู้เสียหาย แอบอ้างเป็นบริษัทที่เคยสมัครงาน หลอกลวงเหยื่อให้ทดลองงาน ทำภารกิจออนไลน์

641676f6d1ec78.36972507.jpg

ตำรวจไซเบอร์ได้รับแจ้งความร้องทุกข์จากผู้เสียหายหลายคน ว่าได้รับโทรศัพท์จากมิจฉาชีพ แอบอ้างว่าติดต่อมาจากบริษัทที่เคยกรอกข้อมูลหรือฝากประวัติส่วนตัว หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ และตำแหน่งที่สนใจไว้ผ่านเว็บไซต์หางานต่างๆ โดยมิจฉาชีพได้นำข้อมูลดังกล่าวมาสอบถามผู้เสียหายว่าสนใจสมัครงานในตำแหน่งนี้หรือไม่ หากใช่จะให้เพิ่มเพื่อนทางไลน์ เพื่อพูดคุยแจ้งลักษณะของงานให้ทราบ และจะต้องทดลองงานก่อนเป็นเวลา 3 วัน หากผ่านการทดลองงานแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อไปแจ้งสวัสดิการต่างๆ เช่น วัดหยุด โบนัสประจำปี เป็นต้น

641676eacd3d77.44518333.jpg

แต่ในช่วงทดลองงานมิจฉาชีพจะให้ผู้เสียหายโอนเงินส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายรายวัน เริ่มจากการให้เข้าไปกดถูกใจ หรือกดไลก์บุคคลที่มีชื่อเสียง บันทึกภาพหน้าจอสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในขั้นตอนสุดท้ายมิจฉาชีพจะส่งลิงก์ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมเพื่อให้กดรับออเดอร์สินค้าในราคาตั้งแต่หลักร้อยไปถึงหลักหมื่นบาท หรืออาจจะมากกว่านั้น ทั้งนี้ในช่วงแรกๆ ผู้เสียหายจะได้เงินคืนมาจริง แต่หลังจากนั้นมิจฉาชีพก็จะออกอุบาย หลอกให้เหยื่อเติมเงิน หรือโอนเงินเพิ่มมากขึ้น เมื่อเหยื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกลวงก็จะปิดการติดต่อหลบหนีไป

จากสถิติศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1-11 มี.ค.66 มีผู้เสียหายแจ้งความถูกหลอกโอนเงินเพื่อหารายได้เสริม 29,945 เรื่อง หรือคิดเป็น 13.72% จากเรื่องการรับแจ้งความทั้งหมด สูงเป็นลำดับที่ 2 รองจากการหลอกลวงซื้อขายสินค้าออนไลน์ และมีมูลค่าความเสียหายกว่า 3,300 ล้านบาท ความเสียหายสูงเป็นลำดับที่ 3 ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด รองจากการหลอกลวงให้ลงทุน และการหลอกลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์

มิจฉาชีพหลอกลวงทดลองงาน มีทั้งการจ้างให้กดไลก์ กดแชร์ ดูคลิปวิดีโอจากยูทูบ กดรับออร์เดอร์สินค้า รีวิวที่พัก รีวิวสินค้า พับถุงกระดาษ ร้อยลูกปัด หรือทำกิจกรรมอื่นๆ โดยโฆษณาเชิญชวนผ่านเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม Tiktok หรือการส่งความสั้น (SMS) ไปยังเหยื่อโดยตรงให้กดลิงก์เพิ่มเพื่อนทางแอปพลิเคชันไลน์ ทุกครั้งจะต้องมีการโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารของมิจฉาชีพ หรือเติมเงินเข้าไปในระบบที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมาก่อน โดยจะทำให้เห็นว่ามีจำนวนเงินแสดงขึ้นมาในระบบจริง แต่ยังไม่สามารถถอนออกมา

64167707c19f49.55136876.jpg

แนวทางการป้องกันการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว ดังนี้

1ระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงินในสื่อสังคมออนไลน์ โดยเว็บไซต์ที่รับสมัครงานต้องปิดข้อมูลของผู้สมัครงานเป็นความลับ
2อย่าหลงเชื่อการรับสมัครงานใดๆ ที่ต้องให้ทำภารกิจออนไลน์ หรือทดลองงานในลักษณะดังกล่าวก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการให้โอนเงินไปก่อน สันนิษฐานได้เลยว่าเป็นมิจฉาชีพแน่นอน
3 หากมีการแอบอ้างเป็นพนักงานบริษัท อย่ารีบเชื่อ ให้โทรศัพท์ไปสอบถามหน่วยงาน หรือบริษัทนั้นๆ โดยตรง
4เมื่อพบคำเชิญชวนให้ทำงานออนไลน์ ผ่านทางข้อความสั้น (SMS) หรือประกาศ โฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ อย่าเข้าไปติดต่อสมัครทำงานเป็นอันขาด มักจะมีการแอบอ้างสัญลักษณ์ของหน่วยงาน หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องมาเพิ่มความน่าเชื่อถือ เช่น Shopee, Lazada เป็นต้น

5 หลีกเลี่ยงข้อเสนอที่ฟังดูดี หรือมีผลตอบแทนสูง ทำง่าย มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน
6 หากต้องการจะทำงานจริงๆ ให้ปรึกษาสายด่วนของตำรวจไซเบอร์ ที่หมายเลข 1441 เพื่อปรึกษาว่างานดังกล่าวเป็นมิจฉาชีพหรือไม่
7 หากสมัครทำงานไปแล้ว พบว่ามีการติดต่อให้วางเงินมัดจำ หรือเงินลงทุน หรือสำรองเงินก่อนจะทำงานได้ ให้ฉุกคิดทันทีว่ากำลังโดนมิจฉาชีพหลอกลวง อย่าโอนเงินไปเด็ดขาด
8 ไม่โอนผ่านบัญชีของบุคคลธรรมดา และควรตรวจสอบเลขบัญชี หรือชื่อเจ้าของบัญชีก่อนโอนเงินทุกครั้งว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่