หลายปีมานี้เหล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทำงานกันอย่างหนัก โทรมาสร้างเรื่องหลอกคนไทยให้โอนเงินออกจากบัญชีตัวเอง โดยกระบวนการหลอกลวงจะมีตัวกลางที่เรียกว่า “บัญชีม้า” คอยทำหน้าที่รับโอนเงินจากเหยื่อ และโอนไปเป็นทอดๆ ไปถึงมิจฉาชีพตัวจริง
จากสถิติปี 2565 มีการรับแจ้งความของตำรวจไซเบอร์มีจำนวน 210,000 คดี ความเสียหาย 31,000 ล้านบาท และปัจจุบันมีบัญชีที่ต้องตรวจสอบเป็นธุรกรรมต้องสงสัยประมาณ 30,000 กรณี แม้จะจับกุมบัญชีม้าได้ แต่พฤติกรรมการหลอกลวงในลักษณะนี้ก็ยังไม่หมดไป ยังมีบัญชีม้าเกิดขึ้นเรื่อยๆ จากการรับซื้อขายบัญชี เพื่อนำไปกระทำผิด
ทางภาครัฐก็พยายามหาวิธีป้องกันเร่งด่วน โดยเมื่อไม่กี่วันนี้เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา เจตนารมณ์ตามกฏหมายนี้ เพื่อป้องกันความสูญเสียทรัพย์สินของประชาชนที่ถูกหลอกลวง โดยมีการโอนเงินออกไปอย่างรวดเร็วของแก๊งคอลเซ็นเตอร์
สาระสำคัญหลักของกฎหมายฉบับนี้มี 2 ส่วนก็คือ
1. เปิดบัญชีม้า ผู้ที่รับจ้างเปิดบัญชีม้า เพื่อใช้ในกรรทำความผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. โฆษณาชักชวนหรือเป็นธุระจัดหาให้มีการซื้อขายบัญชีม้า หรือซิมผี ไปใช้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรืออาชญากรรมรูปแบบ ต้องจำคุกตั้งแต่ 2 ถึง 5 ปี ปรับตั้งแต่ 200,000 ถึง 500,000 บาท
สิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็นของกฎหมายฉบับนี้คือ เมื่อธนาคารพบเหตุโอนเงินผิดปกติ หรือใครที่ถูกหลอกให้โอนเงิน ให้รีบแจ้งธนาคารโดยด่วน ธนาคารมีอำนาจระงับธุรกรรมไว้ชั่วคราว ไว้ตรวจสอบ เป็นการหยุดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหลังจากแจ้งธนาคารแล้วผู้เสียหายต้องไปแจ้งความภายใน 72 ชั่วโมงด้วย
จะแจ้งความกับพนักงานสอบสวนที่โรงพัก หรือแจ้งความทางออนไลน์ก็ได้ เพราะถือว่าร้องทุกข์โดยชอบตามกฎหมายแล้ว