ปล่อยนกแว่นเหนือ-ไก่ฟ้าหางลายขวาง 263 ชีวิต กลับคืนสู่ป่าดอยผ้าห่มปก

ปล่อยนกแว่นเหนือ-ไก่ฟ้าหางลายขวาง 263 ชีวิต กลับคืนสู่ป่าดอยผ้าห่มปก

View icon 228
วันที่ 20 มี.ค. 2566 | 11.55 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ปล่อยนกแว่นเหนือ-ไก่ฟ้าหางลายขวาง 263 ชีวิต กลับคืนสู่ป่าดอยผ้าห่มปก ตามโครงการ ปล่อยสัตว์ป่าคืนธรรมชาติ ส่งสัตว์ป่าคืนวนา เพื่อป่าสมบูรณ์

สัตว์ป่าได้กลับคืนสู่ป่า (20 มี.ค.2566) นายสิทธิ์ วิมาลา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2566 ว่าที่ร้อยตรี นพรัตน์ ศุภกิจโกศล นายอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมปล่อยสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ตามโครงการ "ส่งสัตว์ป่าคืนสู่วนา เพื่อป่าสมบูรณ์" ที่บริเวณ อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก ต.โป่งน้ำร้อน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ โดยอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก เป็นพื้นที่อีกแห่งหนึ่งที่มีความเหมาะสมในการสร้างความสมดุลให้กับธรรมชาติ จึงได้ทำโครงการร่วมกับสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าดอยตุงในการส่งสัตว์ป่าคืนวนา เพื่อป่าสมบูรณ์ โดยสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าแม่ลาวได้มอบนกแว่นสีเทา จำนวน 6 ตัว และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าดอยตุง มอบไก่ฟ้าหางลายขวางจำนวน 20 ตัว เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

สำหรับนกแว่นสีเทา หรือนกแว่นเหนือ เป็นนกที่มีขนาดกลางจนถึงขนาดกลาง-ใหญ่ (55-75 เซนติเมตร) แข้งมีสีเข้ม แข้งแต่ละข้างมีเดือยอย่างน้อยข้างละ 2 อัน และอาจจะมากถึง 5 อัน สถานภาพทางกฎหมาย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ชนิดที่เพาะพันธุ์ได้

ส่วนไก่ฟ้าหางลายขวาง สถานภาพการอนุรักษ์ ใกล้สูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง มีถิ่นที่อยู่อาศัยบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย สถานภาพทางกฎหมาย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ประชากรสัตว์ป่าหลายชนิดถูกคุกคามจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ถิ่นอาศัยถูกบุกรุกจากการทำเกษตรกรรมรวมไปถึงการพัฒนาเพื่อสาธารณูปโภค เช่น การสร้างเขื่อน การสร้างถนน การล่าสัตว์ และการลักลอบค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย ทำให้สัตว์ป่าหลายชนิดมีสถานภาพวิกฤติเข้าสู่ภาวะใกล้สูญพันธุ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ป่าที่สำคัญในระบบนิเวศ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการกำหนดแนวทางเพื่อคุ้มครอง ดูแล ชนิดพันธุ์เหล่านี้โดยเฉพาะการจัดการที่มีประสิทธิภาพเพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการคุ้มครองและฟื้นฟูแหล่งอาศัย รวมไปถึงสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สัตว์ป่าให้คงอยู่ในระบบนิเวศ ต่อไป