เลือกตั้ง 2566 : ย้อนอดีตการเมืองไทย พ.ศ. 2481 – 2556  กับการยุบสภาฯ 14 ครั้ง

เลือกตั้ง 2566 : ย้อนอดีตการเมืองไทย พ.ศ. 2481 – 2556 กับการยุบสภาฯ 14 ครั้ง

View icon 267
วันที่ 20 มี.ค. 2566 | 18.38 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ตามที่ราชกิจจานุเบกษา ประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560  ที่ระบุว่า การยุบสภาฯ ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา และให้กระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งใหม่เป็นการทั่วไป ต้องไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาฯ ดังกล่าวบังคับใช้ เมื่อย้อนไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทย พบว่ามีการยุบสภามาแล้ว 14 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 พันเอก พระยาพหลพลหยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2481 เนื่องจากได้มีการเสนอญัตติขอแก้ไขข้อบังคับการประชุม และการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 68 เกี่ยวกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ เพื่อพิจารณารับหลักการของนายถวิล อุดม สส.ร้อยเอ็ด โดยเสนอขอให้รัฐบาลจัดทำรายละเอียดของงบประมาณประจำปีในเวลาเสนองบต่อรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติตามได้ และรายละเอียดบางข้อก็ไม่อาจเปิดเผยได้ ปรากฏว่ารัฐบาลแพ้มติสภาฯ นายกรัฐมนตรีได้กราบถวายบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง แต่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เห็นว่าสถานการณ์โลกยังไม่มั่นคง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล กำลังจะเสด็จนิวัติพระนคร รัฐบาลจึงควรอยู่ต่อไปนายกรัฐมนตรีจึงขอให้ออกพระราชกฤษฎีกายุบสภา เพื่อให้เลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 1 ใหม่

ย้อนอดีตการเมืองไทย พ.ศ. 2481 – 2556  กับการยุบสภาฯ 14 ครั้ง

ครั้งที่ 2 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2488 เนื่องจาก สส. ซึ่งได้รับเลือกตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ได้มี พ.ร.บ.ขยายกำหนดเวลาให้อยู่ในตำแหน่งต่ออีก 2 ครั้ง ทั้งนี้เพราะไม่อาจจัดให้มีการเลือกตั้งในระหว่างสงครามขณะนั้นได้ (สงครามโลก ครั้งที่ 2 ) ทำให้ สส.ชุดดังกล่าว อยู่ในตำแหน่งนานเกินควร ย่อมเป็นเหตุให้จิตใจและความคิดเห็นของสมาชิกส่วนมาก เหินห่างจากเจตนาและความประสงค์อันแท้จริงของราษฎร ประกอบกับรัฐบาลได้เสนอร่าง พ.ร.บ.อาชญากรสงคราม เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ บรรดาสมาชิกได้อภิปรายอย่างรุนแรง และลงมติไม่เห็นชอบด้วยกับหลักการบางมาตราของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว

ครั้งที่ 3 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ยุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2516 เนื่องจากภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในขณะนั้นได้มีการดำเนินการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งแต่งตั้งไว้สมัยจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี จำนวน 299 คน ปรากฏว่ามีกลุ่มนักศึกษาและประชาชนได้เคลื่อนไหว ขอให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดดังกล่าวลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแต่งตั้งสมาชิกชุดใหม่ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดดังกล่าวจึงได้ทยอยกันลาออกจากตำแหน่ง จนเหลือเพียง 11 คน ซึ่งไม่เพียงพอที่จะเป็นองค์ประชุม จึงได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อจะได้แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นใหม่
ย้อนอดีตการเมืองไทย พ.ศ. 2481 – 2556  กับการยุบสภาฯ 14 ครั้ง

ครั้งที่ 4 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2519 เนื่องจากเกิดปัญหาความแตกแยกและขัดแย้งในคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐบาลผสมในขณะนั้นอย่างรุนแรง อันเป็นเหตุให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน และส่งผลกระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ประกอบกับจะมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2519 นายกรัฐมนตรีจึงดำเนินการออก พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร

ครั้งที่ 5 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2526 เนื่องจากเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้ง สส. ประชาชน และ สส. ต่างมีความเห็นแตกต่างกันไป หากให้มีการเลือกตั้ง สส. ตามวิธีการใหม่ อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและรุนแรงทางการเมือง รวมถึงความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจ สังคม ความสามัคคีของคนในชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้

ครั้งที่ 6 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 เนื่องจากรัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2529 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาฯ ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านได้ลงมติไม่รับพระราชกำหนดดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าเกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองของพรรคการเมืองบางพรรค หากให้ สส.ชุดนี้ ทำหน้าที่ต่อไป อาจเกิดผลกระทบต่อนโยบายของรัฐบาลอย่างรุนแรง และกระทบถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ

ครั้งที่ 7 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2531 เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงของ สส. ของพรรคการเมืองบางพรรค ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความไม่มั่นคงในเสถียรภาพของรัฐบาล อันส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดินและการพัฒนาประเทศ

ครั้งที่ 8 นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2535 การยุบสภาในครั้งนี้ สืบเนื่องจากการสืบทอดอำนาจของคณะ รสช. ซึ่งทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองอย่างรุนแรง จากเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 โดยมีการเรียกร้องให้ พลเอก สุจินดา คราประยูร ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดให้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะกิจ เพื่อจะได้ใช้กระบวนการทางรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ คืนอำนาจให้กับประชาชน ซึ่งในขณะนั้น สส. ที่ได้รับเลือกตั้งและจะจัดตั้งรัฐบาลนั้น ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาวิกฤตทางการเมือง รัฐบาลจึงยุบสภาฯ เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่

ย้อนอดีตการเมืองไทย พ.ศ. 2481 – 2556  กับการยุบสภาฯ 14 ครั้ง

ครั้งที่ 9 นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรคการเมือง แต่ไม่ปรากฏว่ามีพรรคการเมืองใดที่มีจำนวน สส. เพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล แต่เกิดความแตกแยกในหลายพรรคการเมืองและระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล จนไม่สามารถจะดำเนินการในทางการเมืองได้อย่างมีเอกภาพ ประกอบกับได้มีการเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีจากผลการปฏิบัติงาน เรื่องการออกเอกสารสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) และมีการลาออกของพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน

ครั้งที่ 10 นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2539 การยุบสภาฯ เกิดขึ้นภายหลังมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ระหว่างวันที่ 18 - 20 กันยายน พ.ศ. 2539 ฝ่ายค้านเน้นอภิปรายที่ตัวนายบรรหาร เรื่องประเด็นสัญชาติ เมื่อการอภิปรายสิ้นสุดลง ที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลมีมติร่วมกันว่าจะขอให้นายบรรหารลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายบรรหารก็ประกาศผ่านสื่อว่า จะลาออกภายใน 7วัน โดยระหว่างนั้นจะพิจารณาบุคคลที่เหมาะสมขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ก่อนจะเปลี่ยนใจประกาศยุบสภาในท้ายที่สุด

ครั้งที่ 11 นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีประกาศ ยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ภายหลังเข้ามาปฏิบัติภารกิจสำคัญๆ หลายประการจนแล้วเสร็จ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ทำให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกอบกับรัฐสภาให้ความเห็นชอบกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และ สว.แล้ว จึงเป็นสาเหตุที่นำมาสู่การยุบสภา

ครั้งที่ 12 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีประกาศ ยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2549 ภายหลังเกิดการชุมนุมสาธารณะ ตั้งข้อเรียกร้องในทางการเมือง และการชุมนุมขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง ส่อเค้าว่าจะมีการเผชิญหน้าจนอาจปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และอาจมีการสอดแทรก ฉวยโอกาสจากผู้ที่ประสงค์จะเห็นความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง แม้รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหา ด้วยการเปิดให้มีการอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติในที่ประชุมรัฐสภา ก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันระหว่างผู้ชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาลได้สภาพดังกล่าวย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ ในที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณ จึงตัดสินใจประกาศยุบสภาฯ

ย้อนอดีตการเมืองไทย พ.ศ. 2481 – 2556  กับการยุบสภาฯ 14 ครั้ง

ครั้งที่ 13 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หลังจากเข้ามาคลี่คลายปัญหาทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้ง และความแตกแยกในสังคม โดยเฉพาะเรื่องการเมือง ประกอบกับรัฐสภาได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2550 ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปเรียบร้อยแล้ว นายอภิสิทธิ์ จึงตัดสินใจคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชน ด้วยการประกาศยุบสภาฯ

ครั้งที่ 14 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 หลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมจากหลายภาคส่วน ร่วมกันเดินขบวนกดดันเจ้าหน้าที่รัฐตามสถานที่ราชการต่างๆ คัดค้านการออกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ศ. 2556 โดยสถานการณ์การชุมนุมยังคงส่อเค้าว่าจะยืดเยื้อ และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ แม้รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหา ด้วยการเปิดโอกาสให้ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าเจรจา เพื่อหาทางออกร่วมกันแต่ก็ไม่เป็นผล ดังนั้น น.ส. ยิ่งลักษณ์ จึงตัดสินใจประกาศยุบสภาฯ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง และเป็นการคืนอำนาจให้พี่น้องประชาชน เป็นผู้ตัดสินใจกับการเลือกตั้งครั้งใหม่

ขอบคุณข้อมูล : นายมนัส สามารถกุล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ กลุ่มประสานงานการเมือง 4 กองประสานงานการเมือง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง