ผู้ว่าฯ ปราจีนบุรี ยอมรับซีเซียม-137 ถูกหลอมแล้ว จ.ปราจีนบุรี

View icon 67
วันที่ 21 มี.ค. 2566 | 06.34 น.
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - ผู้ว่าฯปราจีนบุรี ยอมรับซีเซียม-137 ถูกหลอม พบปนเปื้อนสารในฝุ่นแดง บนพื้นที่จำกัด แต่ถูกควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญแล้ว ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก

ผู้ว่าฯ ปราจีนบุรี ยอมรับซีเซียม-137 ถูกหลอมแล้ว จ.ปราจีนบุรี
จากกรณีวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ที่สูญหายไปจากบริษัทไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรม 304 ตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี และพบว่ามีการหลอมไปตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคมแล้ว

ซึ่งวานนี้ (20 มี.ค.) นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวรายงานผลการตรวจ พบว่าการตรวจสอบโรงหลอมโลหะจากเศษเหล็ก ในจังหวัดปราจีนบุรี 5 แห่ง พบว่ามีโรงงานแห่งหนึ่งปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ในฝุ่นโลหะที่ได้จากการผลิตโลหะ

ผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ หรือ ปส. ได้ควบคุมและตรวจสอบพื้นที่โรงงานโดยรอบ พบว่าโลหะที่ได้จากกระบวนการผลิต ไม่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ตรวจวัดรอบโรงงานพบว่าปริมาณรังสีอยู่ในระดับปกติ เช่นเดียวกับคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ รอบโรงงานพบว่าระดับรังสีปกติ ไม่มีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในสิ่งแวดล้อม

ส่วนการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นแดง เกิดขึ้นจากโรงงานหลอมโลหะรีไซเคิล ที่รับซื้อเศษโลหะมือสอง ที่มีการปะปนของวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เข้าไปในกระบวนการหลอมโลหะ และเมื่อเข้าสู่กระบวนการหลอม ซีเซียม-137 จะถูกหลอมและระเหยกลายเป็นไอกระจายอยู่ในเตาหลอม ที่มีระบบกรองของเสียที่เป็นการทำงานในระบบปิดทั้งหมด ทำให้ซีเซียม-137 จะปนเปื้อนไปอยู่ในฝุ่นโลหะที่ได้จากกระบวนการหลอม ซึ่งฝุ่นปนเปื้อนเหล่านี้มีระบบกรองป้องกันไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม และถูกจัดเก็บควบคุมอยู่ในระบบปิดทั้งหมด ดังนั้นฝุ่นโลหะปนเปื้อนได้ถูกระงับการเคลื่อนย้าย และจำกัดไม่ให้ออกนอกบริเวณโรงงาน

ปส.ได้ตรวจวัดการเปรอะเปื้อนทางรังสีนอกร่างกายของผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดภายในโรงงาน ไม่พบการเปรอะเปื้อนทางรังสีของผู้ปฏิบัติงานแต่อย่างใด สามารถสรุปได้ว่าฝุ่นโลหะปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 มีการปนเปื้อนในบริเวณที่จำกัด และถูกควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และเหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่เกิดการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สู่สิ่งแวดล้อม ไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบ และบริเวณใกล้เคียง ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก และสถานการณ์ทั้งหมดได้ถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว

ผู้ว่าฯ ระยอง สั่งย้ายผงฝุ่นเหล็กปนเปื้อนซีเซียม กลับปราจีนบุรี จ.ระยอง
ส่วนที่จังหวัดระยอง นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบบริษัทแห่งหนึ่งที่รับผงฝุ่นเหล็กมาจากโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดปราจีนบุรี โดยมีสารซีเซียม-137 ปนเปื้อน เก็บไว้ที่โกดังของโรงงาน ตรวจสอบพบเป็นผงฝุ่นเหล็ก บรรจุอยู่ในถุงบิกแบ็ก จำนวน 16 ถุง รวม 12.4 ตัน ซึ่งโรงงานนี้พบว่ามีการขออนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกมานอกโรงงานอย่างถูกต้อง ตรวจสอบค่ารังสีจากซีเซียม-137 บริเวณโรงงานไม่พบค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน

เบื้องต้นได้สั่งการให้โรงงานหยุดดำเนินการชั่วคราว พร้อมให้ขนย้ายฝุ่นเหล็กทั้งหมดกลับไปยังโรงงานต้นทางที่รับมา ภายใน 3 วัน และให้มีการเฝ้าระวังประชาชนที่อาจไปสัมผัสสารซีเซียม-137 อย่างใกล้ชิด ซึ่งภาพถุงผงฝุ่นเหล็กเหล่านี้ ก็มีคำถามเหมือนกันว่า เก็บใส่ถุงวางไว้ในที่โล่ง ๆ แบบนี้ ฝุ่นเหล็กที่ปนเปื้อนซีเซียม-137 จะไม่มีการฟุ้งกระจายหรือ

เพจวิทยาศาสตร์ อธิบายเรื่อง ซีเซียม-137
ในขณะที่เพจเฟซบุ๊กที่ให้ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ชื่อ Darth Prin โพสต์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความกังวลของประชาชนไว้ โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า ในกรณีที่ซีเซียม-137 เข้าสู่เตาหลอมและถูกหลอมเหลวไปแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น โดยเขาอธิบายว่า

"ซีเซียมจะไม่สามารถเข้าได้กับเหล็ก มันจะไม่ละลายรวมกับแท่งเหล็ก แต่ซีเซียมนั้นเป็นธาตุหมู่ 1 มันทำปฏิกิริยาได้ดีกับอากาศ และเวลาเจอน้ำ มันจะกลายเป็นซีเซียมไฮดรอกไซด์ แม้ว่าตอนเผามันจะฟุ้งกระจายในลักษณะฝุ่นออกไซด์

แต่เตาถลุงเหล็กในข่าวนั้น เป็นระบบเตาปิด มีทั้งไซโคลนและตัว Cooler (ระบายความร้อน) ซีเซียมจะตกกลับมาในรูป Slag (ตะกรัน) แต่ถึงไม่มีระบบดักจับ ด้วยปริมาณน้อยนิดในหลักไมโครกรัม มันจะถูกเจือจางเป็นฝุ่น เป็นละอองหายไปกับอากาศ และเราแทบไม่มีทางตรวจจับได้เลย เพราะเตาเผาเล็ก ๆ นั้น ก็ใช้อากาศในหลักพันกิโลกรัมต่อชั่วโมง มันก็เป็นการเจือจางลงไปในหลักพันล้านเท่า ซึ่งก็เจือจางจนเอาเวลาไปกังวลกับฝุ่น PM2.5 จากโรงหลอมจะดีกว่า (ถ้ามันมีละก็)

เขาบอกว่า "การระมัดระวังเป็นเรื่องดี แต่บางครั้งเราก็ควรกลับมาทบทวนเรื่องเบื้องต้นกันก่อนสักเล็กน้อย โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลมีการรั่วไหลของสารซีเซียม-137 จริง แต่นั่นคือสารในปริมาณ 27 กิโลกรัม ปริมาณการรั่วไหลนี้ต่างกัน 56 ล้านเท่า ก็หวังว่าคนที่กังวลจะต้องอพยพหนีกัมมันตรังสี จะเย็นร่ม ๆ กันลงนะ"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง