คอลัมน์หมายเลข 7 : นายทุนหลีเป๊ะสะอื้น! ศาลฯ สั่งขับไล่ ปปง.ยึดทรัพย์

View icon 336
วันที่ 24 มี.ค. 2566 | 20.10 น.
ข่าวภาคค่ำ
แชร์
ข่าวภาคค่ำ - ความคืบหน้ากลโกงที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ นอกจากจะมีข้อสรุปต้องเพิกถอนที่ดินแล้ว ล่าสุดวันนี้ ศาลยังสั่งขับไล่โรงแรมที่ใหญ่ที่สุดบนเกาะหลีเป๊ะ ส่วน นายก อบต.เกาะสาหร่าย ทางต้นสังกัดมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว รายละเอียดเป็นอย่างไร ติดตามกับ คุณมะลิ แซ่ฉิ่น ในคอลัมน์หมายเลข 7

เป็นเสียงให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล บนเกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ซึ่ง กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่ายหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย ในฐานะท้องถิ่น ได้รับหนังสือมอบหมายให้ดำเนินการแก้ปัญหาการปิดทางเข้าออกของชาวบ้านซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชน แต่ว่าทางองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่ายกลับเพิกเฉย ละเว้น ไม่ปฏิบัติหน้าที่

คอลัมน์หมายเลข 7 เดินทางมายังจังหวัดสตูล ติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดิน ที่มีการบุกรุกของเอกชน และส่วนใหญ่ผู้นำท้องถิ่นกลายเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุด พบว่าขณะนี้ ศาลมีคำสั่งให้รื้อถอนโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดบนเกาะหลีเป๊ะ และสำนักงาน ปปง. มีการยึดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว โดยโรงแรมที่ว่านี้ เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในที่ดินรุกล้ำตามโฉนดแปลงที่ 11 ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการเพิกถอนที่ดิน ได้มีมติร่วมกันที่จะใช้มาตรา 61 บังคับเพิกถอน หลังคณะทำงานลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงปัญหาข้อพิพาทและมีการประชุมใหญ่ ถึง 3 ครั้ง โดยจะมีการเพิกถอนที่ดินให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือนพฤษภาคมนี้

มีข้อมูลการสำรวจธุรกิจโรงแรมบนเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งมีอยู่มากกว่า 100 แห่ง แต่ที่น่าสนใจ คือเมื่อตรวจสอบดูรายละเอียด กลับมีเพียงไม่ถึง 10 แห่ง ที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฏหมาย อีกทั้งยังพบว่าในหลายธุรกิจ ชำระเพียงภาษีบำรุงท้องที่ให้แก่ท้องถิ่น ซึ่งเรื่องนี้ อยู่ระหว่างการขยายผลเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

แม้วันนี้จะมีความคืบหน้าในการพยายามแก้ไขปัญหาให้เห็นแล้ว แต่เรื่องราวกลโกงที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งเกี่ยวข้องพัวพันกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เพิกเฉย ไม่ปฏิบัติหน้าที่และบังคับใช้กฎหมาย จนทำให้ปัญหาลุกลามกลายเป็นข้อพิพาท ระหว่างนายทุนกับชาวบ้านในพื้นที่นานหลายสิบปี จากการบุกรุกที่ดิน และครอบครอบเอกสารสิทธิโดยมิชอบ ก็ยังคงต้องเฝ้าจับตาต่อไป เพราะเรื่องนี้ไม่เพียงเกี่ยวพันกับผู้มีอิทธิพล แต่ยังมีการตั้งคำถามไปถึงผู้บริหารระดับท้องถิ่นและอาจมีระดับที่สูงกว่านั้น ที่เกี่ยวพันทำให้ปัญหายืดเยื้อมานาน

สุดท้ายการรื้อถอนจะทำได้จริงตามคำสั่งศาลหรือไม่ งบประมาณเร่งด่วน 45 ล้านบาท เพื่อการรื้อถอนจะจัดสรรได้ทันที หรือ จะมีข้ออ้างใหม่ตามมาที่ทำให้การรื้อถอนไม่เป็นไปตามแผน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง