ข่าวเย็นประเด็นร้อน - เมื่อเช้านี้ ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช และ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ได้มาที่ศาลอาญาเพื่อไต่สวนมูลฟ้อง คดีที่ นายชูวิทย์ ฟ้อง นายสันธนะ ประยูรรัตน์ เป็นจำเลย ซึ่งวันนี้เป็นการนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ โดยจะมีการซักค้านนายชูวิทย์ และสืบพยานพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ โดยก่อนทั้งคู่จะเข้าไปในศาล ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม เรื่องเงินค่าแถลงข่าว 300,000 บาท
โดย นายชูวิทย์ กล่าวว่า เมื่อมีอาชีพทนายก็ต้องใช้กฎหมาย ไม่ใช่ใช้สื่อเป็นเครื่องมือ เมื่อมีคนเดือดร้อนมาหา ถ้าไปคิดเงินเขาตอนแถลงข่าว 300,000 บาท ตนไม่คิดว่าทนายความจะคิดเงินค่าแถลงข่าว ดังนั้นสมาคมทนายความหรือสื่อมวลชนควรจะพิจารณา การเป็นทนายความต้องใช้ความสามารถ ต้องใช้หลักฐาน ใช้พยานในการสู้คดี แต่ปรากฏว่าอีกฝ่ายใช้การแถลงข่าวนั่นไม่ใช่วิถีของทนายความ ยิ่งบอกว่าตัวเองเป็นทนายประชาชนอีกด้วย
ชูวิทย์ ยังบอกอีกว่า "ตอนนี้มีกระบวนการพยายามที่จะมาปิดปากผม มีทั้งทนาย พวกหิวแสง นักร้องเรียน ใครฟ้องมาผมก็จะฟ้องกลับ จะสู้ในทางกฎหมาย ผมพร้อมสู้ทุกทางเวลาสู้ก็จะไม่ค่อยเหมือนกัน ฝากไปบอกหมาลอบกัด ผมพร้อมจะกัดตอบ กูไม่กลัวมึง"
ส่วนเงินบริจาคจำนวน 6 ล้านบาท ที่ทางโรงพยาบาลคืนมา อยากให้ติดตามว่าวันพรุ่งนี้จะเอาไปให้ใคร
ด้าน ทนายอนันต์ชัย บอกว่า กรณีที่ ทนายตั้ม ออกมาแถลงเรื่องการรับเงินสีเทากับสื่อนั้นเข้าข่ายหมิ่นประมาท ซึ่งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทาง นายชูวิทย์ ได้โทรศัพท์มาขอร้องให้ตนเองทำคดี ได้มาปรึกษาว่าสิ่งที่ ทนายตั้ม โพสต์นั้น เข้าข่ายความผิดอะไรบ้าง จากการพิจารณาเบื้องต้นจะพิจารณาใน 3 ประเด็น คือ
1. พฤติกรรมดังกล่าวจะความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาหรือไม่ เพราะการที่ ทนายตั้ม เอารูปที่ถ่ายแค่ถุงเงินมานั้นเป็นการแบล็กเมล์ แต่กลับไม่มีรูป ชูวิทย์ รับเงิน ส่วนจำนวนเงินที่บอกว่า 10 ล้านนั้น ก็ไม่มีใครรู้ว่าจำนวนเงินที่แท้จริงเท่าไหร่ อาจจะถูกดึงไประหว่างทาง แต่ยันว่ามาถึง ชูวิทย์ เพียงแค่ 6 ล้าน
2. พฤติกรรมของ ทนายตั้ม มีผิดมรรยาททนายความ มีการแถลงข่าวที่คลาดเคลื่อน ไม่มีหลักฐาน แต่เป็นการยกข้อมูลขึ้นมาลอย ๆ ซึ่ง นายชูวิทย์ ไปแจ้งร้องสภาทนายความให้ตรวจสอบ
3. ทางทนายความได้พูดถึงกรณีที่ พันตำรวจเอกศิริวัฒน์ ดีพอ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และผู้บริหาร ปปง. ที่ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ว่าการนำเงินของ นายชูวิทย์ ไปบริจาค อาจเข้าข่ายการฟอกเงิน ซึ่งตนมองว่าไม่ควรให้สัมภาษณ์ในลักษณะชี้นำแบบนั้น ควรจะให้สัมภาษณ์ว่าอยู่ระหว่างการตรวจสอบ หรือรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะเข้าข่ายความผิด ม.157 และ ม.200
ทนายอนันต์ชัย ยังบอกอีกว่า หลังจากนี้จะไม่ให้ นายชูวิทย์ พูดถึงกรณี ทนายตั้ม กับสื่อมวลชนอีกแล้ว เพื่อจะได้ไม่เสียรูปคดี และขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม หาก ทนายตั้ม มีการพูดพาดพิง ก็จะฟ้องกรรมละ 100 ล้านบาท พร้อมพูดว่า "ใช้สติจะมีปัญหา ทำในสิ่งที่ถูกต้องอย่าทำในสิ่งที่ถูกใจ"
ทนายตั้ม โต้ ปมเงิน 3 แสน ค่าแถลงข่าว
ต่อมา ทนายตั้ม ษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนได้แถลงเรื่องเงินค่าแถลงข่าว 300,000 บาท
ทนายตั้ม ยอมรับ เรียกเก็บค่าเเถลงข่าวกับลูกความจำนวน 300,000 บาท จริง เเต่ไม่ใช่ทุกเคส อ้างว่าเป็นค่าป้องกันหากถูกฟ้องในอนาคต หลังจากนี้จะกำกับให้ทีมงานใช้คำที่ถูกต้องกว่านี้
โดย ทนายตั้ม เปิดเผยว่า ยอมรับว่าที่ผ่านมามีการเรียกเก็บค่าเเถลงข่าวจริง เเต่ยืนยันว่าไม่ได้เรียกเก็บทุกเคส สาเหตุที่ต้องเรียกเก็บเพราะเป็นค่าป้องกันการถูกฟ้องในอนาคต นอกจากนี้ยังเรียกเก็บเงินจากลูกความหากฟ้องชนะคดี แบ่งเป็น 15% ตนเองไม่เคยบังคับลูกความ หากรับข้อตกลงได้ก็จะทำคดีให้ โดยที่ผ่านมาเรียกเก็บสูงสุดก็คือ 300,000 บาท
ตนเองยืนยันว่า ปีที่ผ่านมามีเคสมาปรึกษา 1,500 เคส เเต่รับไม่ถึง 10% เพราะ สำนักงานทนายษิทรา คิดเเพง โดยคนที่โทรปรึกษา หากเป็นทีมงาน คิดค่าปรึกษา 20 นาที 1,000 บาท เเต่ถ้าคุยกับ ทนายตั้ม โดยตรง 15 นาที 1,500 บาท ถ้ามาเจอตัว ทนายตั้ม คิดค่าปรึกษา 3,000 บาท มันคือวิชาชีพ เพราะไม่มีเงินเดือน ตนเองไม่ได้ทำธุรกิจสีเทา ไม่ได้ทำอาบอบนวด
ทนายตั้ม กล่าวต่ออีกว่า หลังจากนี้จะให้ทีมงานเปลี่ยนคำในเอกสารในการเสนอราคาใหม่ เช่น เป็นค่าเสี่ยงภัย ค่าป้องกันการถูกคู่ความฟ้องร้องในอนาคต ยืนยันว่าตนเองยังเป็นทนายประชาชน เพราะคดีเล็ก ๆ ที่เข้ามาขอความช่วยเหลือตนเองก็ยินดีช่วย เเละยืนยันว่าไม่เคยหลอกใช้นักข่าว ไม่ห่วงว่านักข่าวจะบอยคอต เพราะเเต่ละครั้งที่นักข่าวมาก็ได้งานเพื่อนำกลับไปเสนอยังสถานี
ส่วนกรณีที่จะยื่นตรวจสอบภาษี ยืนยันว่า สำนักงานยื่นภาษีทุกเดือน เดือนละหลายหมื่นบาท สามารถตรวจสอบได้ พร้อมกับนำเอกสารการเสียภาษีนำมาเเสดง
ต่อมาในช่วงบ่าย ทนายตั้ม ตั้งโต๊ะแถลง เดินหน้าแฉ ชูวิทย์ ต่อ ไม่หวั่นคำขู่ฟ้อง 100 ล้านบาท พร้อมเปิดชื่อ 2 นายตำรวจ ที่อยู่ในเหตุการณ์ วันที่เงินในถุงกระดาษจำนวน 6 ล้านบาท ของ สารวัตรซัว ตามที่ ชูวิทย์ กล่าวอ้างไปให้ถึงโรงแรม โดยชื่อแรกคือ พล.ต.ท. เกียรติพงศ์ ขาวสำอางค์ อดีตตำรวจ ส่วนคนที่ 2 ชื่อ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ เป็นรองเลขา ปปง. ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ต้องไปถาม นายชูวิทย์ ในวันพรุ่งนี้ เบื้องต้นตนเองจะนำพยานหลักฐานไปยื่นให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนเงินดิจิทัล 50 ล้านบาท ต้องให้ทางตำรวจสอบสวนกลางตรวจสอบข้อเท็จจริง
ในช่วงท้ายของการแถลงแฉ ชูวิทย์ ทนายตั้ม บอกว่า 3 คน ที่ตนเองจะไม่ปะทะด้วยคือ 1. นายสนธิ ลิ้มทองกุล 2. นายเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส 3. นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์
พร้อมกับฝากถึง นายชูวิทย์ ว่าหากชูวิทย์ฟ้องเรียก 100 ล้านบาท ตนคงไม่มีให้คงต้องฟ้องล้มละลายเท่านั้น และยังคิดอยู่ว่าจะฟ้องกลับ ชูวิทย์ หรือไม่ เพราะไม่อยากต่อความยาวสาวความยืด
อัจฉริยะ ร้องกองปราบฯ สอบเรื่องคนนำเงินมาให้ชูวิทย์
ทางด้าน นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ โดยเดินทางมาร้องเรียนที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ให้ตรวจสอบว่าใครนำเงินของสารวัตรซัวมาให้ ชูวิทย์ และวันที่นำเงินมามอบให้วันไหน
นายอัจฉริยะ กล่าวว่า วันนี้ได้มาแจ้งความให้เอาผิดกับ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการ ป.ป.ง. พร้อมกับ พล.ต.ท.เปี๊ยก และพวกรวม 4 คน ที่เกี่ยวข้องกับเงินจำนวน 6 ล้านบาท จากสารวัตรซัว ไปมอบให้ นายชูวิทย์
ส่วนกรณีที่ นายชูวิทย์ ระบุว่าได้รับเงินจำนวน 6 ล้านบาท มาในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ตามที่ชี้แจงกับสื่อมวลชน ตนเองไม่เชื่อว่าเป็นวันดังกล่าว เพราะในวันที่ 5-9 กุมภาพันธ์ นายชูวิทย์ ได้ไลฟ์สดโจมตีสถานอาบอบนวดของ นายเปา หลานบุญธรรม และสารวัตรซัว จนถูกให้ออกจากราชการ จึงตั้งข้อสงสัยว่า น่าจะรับเงินหลังจากนั้นมากกว่า
นอกจากนี้ยังเปิดเผยรายชื่อ พล.ต.อ. ช.ช้าง ที่พาแทนไทไปหา ชูวิทย์ และมีตำรวจชื่อ เด่น สังกัดอยู่ในกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 รับเคลียร์เว็บพนันทางภาคเหนือ อีกด้วย
ในช่วงบ่ายตนเองจะเดินทางไป สน.ทองหล่อ ร้องทุกข์กล่าวโทษ ขอให้พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ สอบสวนดำเนินคดีอาญากับบุคคลตามภาพในเฟสบุ๊กของ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด ซึ่งเป็นเจ้าของเว็บพนันออนไลน์ และชายอีกหนึ่งคน พร้อมถุงเงิน 2 ถุง ในข้อหาเดียวกัน ว่านำเงินมาจ่ายให้ใคร ใช่ที่โรงแรมเดวิส หรือไม่ รวมถึงจะไปแขวนป้ายที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟองเงิน เพื่อให้คนในสำนักงานออกมาต่อสู้หลังมีบุคคลเข้าไปทำให้องค์กรเสื่อมเสีย
ทนายนิด้า โต้อย่าใส่ร้ายปมเรียกรับเงินออกรายการ
ส่วนกรณีที่มีการพาดพิงเรื่องทนายผู้หญิงเรียกเก็บเงินจากรายการชื่อดัง ครั้งละ 300,000 บาทนั้น ล่าสุด นางสาวศรันยา หวังสุขเจริญ หรือ ทนายนิด้า โพสต์ข้อความตอบโต้ว่า หลังบ้าน (พยานบอกเล่า) แจ้งว่า พี่เขาหมายถึงตนเองนี่แหละ ที่เรียกเก็บเงินค่าออกรายการครั้งละ 300,000 บาท เอาแต่เน้นเปิด ไม่เน้นปิด เน้นทิ้งบอมบ์ เน้นฟังเขาเล่ามา เน้นผมได้ยินมาว่า (หลายเคสแล้ว) แถลงข่าวแต่ละครั้ง ไม่เคยไม่มีกระทบคนอื่น เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง ส่วนตัวเคยศรัทธาเขา และไม่เคยเป็นศัตรูกัน นอกจากเคยเป็นทนายฝ่ายตรงข้ามให้ลูกความ แต่ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้โกรธและเกลียดตนเองได้ วันนี้ประจักษ์แจ้งแล้วว่า พี่เขาไม่มีความเป็นลูกผู้ชายเลย พี่ฟังเขาว่าแล้วมาพูดให้ใครสักคนบนโลกนี้ได้รับความเสียหาย
นอกจากนี้ ทนายนิด้า ยังระบุในคอมเมนต์อีกว่า ตนเองทำผิดมาก็มี ทำพลาดก็เยอะ แต่อะไรที่ไม่ได้ทำ อย่าใส่ร้ายตนเอง ส่วนตัวไม่มีอะไรไปสู้รบกับพี่ได้ ไม่มีพวกพ้อง ไม่มีสื่อ หรือถ้าไม่เห็นใจว่าตนเองจะรู้สึกอย่างไร แต่พี่ช่วยให้เกียรติชื่อเสียงตัวเองที่สร้างมาขนาดนี้หน่อยเถอะ