ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : ดีเดย์ เม.ย.66 เริ่มเก็บภาษีความหวาน อีกครั้ง

View icon 38
วันที่ 30 มี.ค. 2566 | 22.23 น.
ประเด็นเด็ด 7 สี
แชร์
ประเด็นเด็ด 7 สี - การเรียกเก็บภาษีความหวาน ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะทยอยเรียกเก็บ เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้มีเวลาปรับตัว ก่อนหน้านี้แท้จริงแล้วการจัดเก็บภาษีจะเข้าสู่ระยะที่ 3 แต่รัฐบาลก็ชะลอการจัดเก็บไป ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ กรมสรรพสามิต จะเริ่มเรียกเก็บอัตราภาษีความหวาน ระยะที่ 3 ติดตามในประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ

เป้าหมายของการจัดเก็บภาษีความหวาน รัฐบาลหวังให้เป็นกลไกในการสร้างสุขภาพคนไทยให้ดียิ่งขึ้น เพราะแต่ละปี หลายต่อหลายคน ต้องสูญเสียเม็ดเงินไปมหาศาลกับการรักษาโรค ที่เกิดจากการบริโภคหวาน ดังนั้นสินค้า หรือเครื่องดื่มชนิดใดที่มีรสชาติหวานมาก ก็จะถูกเรียกเก็บเสียภาษีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

กรมสรรพสามิต ได้เริ่มจัดเก็บภาษีความหวาน ตามปริมาณน้ำตาลในสินค้าเครื่องดื่มมาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรม ปรับสูตรลดปริมาณน้ำตาลลง เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชน การจัดเก็บภาษีส่วนนี้ดำเนินเรื่อยมาโดยทยอยปรับเพิ่มขึ้นในอัตราแบบขั้นบันได กระทั่งเข้าสู่การจัดเก็บในระยะที่ 3 จากนั้นเมื่อปี 2565 รัฐบาลประกาศชะลอการจัดเก็บไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชน

คราวนี้มาย้อนดูกันอีกครั้งว่า ที่ผ่านมาการจัดเก็บภาษีความหวานดำเนินไปอย่างไร โครงสร้างภาษีในอัตราแบบขั้นบันได 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เริ่มเก็บตั้งแต่ในวันที่ 16 กันยายน 2560 ถึง 30 กันยายน 2562 ระยะที่ 2 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2564 ระยะที่ 3 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึง 30 กันยายน 2566 ดังนั้น จะทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ ถึง 31 มีนาคม 2568 การจัดเก็บภาษี จะกลับเข้าสู่ระบบเดิม คือระยะที่ 3 โดยเรียกเก็บจากความหวาน ตามปริมาณน้ำตาล ระดับแรกเริ่มจากปริมาณน้ำตาลที่ 0-6 กรัม ตรงนี้ไม่เสียภาษี ถัดมาหากปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มหรืออาหารอยู่ที่ 6-8 กรัม การเรียกเก็บภาษีความหวาน จากที่เก็บอยู่ 0.1 บาทต่อลิตร จะเพิ่มเป็น 0.3 บาทต่อลิตร ไล่เรียงไป จนสูงสุด 5 บาทต่อลิตร

พร้อมย้ำว่า ภาษีความหวานจะมีการปรับขึ้นเป็นอัตราก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ ทุก ๆ 2 ปี หากผู้ประกอบการไม่ปรับตัวในการผลิต ก็จะเสียภาษีเพิ่มขึ้นในอัตราขั้นบันได ซึ่งราคาของสินค้าที่มีสัดส่วนน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐาน จะมีราคาสูงขึ้น ซึ่งผู้บริโภคน่าจะลดการบริโภคสินค้าเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ลง รวมถึงทำให้คนไทยสุขภาพดีขึ้นได้ ส่วนระยะต่อไปในการขยับขึ้นภาษี จะเริ่มในวันที่ 1 เมษายน 2568 ซึ่งเป็นระยะที่ 4 เรียกได้ว่าการจัดเก็บภาษีความหวาน ก็ทำให้ตลาดเครื่องดื่ม ปรับตัวกันครั้งใหญ่ ทำให้ทุกวันนี้เครื่องดื่มจากที่เคยมีความหวานจากน้ำตาลเฉลี่ย 10 กว่ากรัมต่อลิตร ขณะนี้ลดเหลือ 7.3 กรัมต่อลิตร และพบว่าเครื่องดื่มที่มีสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ มีเพิ่มขึ้นในตลาดจากกว่า 200 รายการ เพิ่มเป็น 1,800 รายการเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา หรือเพิ่มมากกว่าเดิมถึง 9 เท่าตัว น้ำอัดลม จากที่เคยมีความหวานเกิน 10 กรัมต่อลิตร ก็เหลือความหวานไม่เกิน 7.5 กรัมต่อลิตร  

นอกจากนี้ ตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ให้ขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานอีก กิโลกรัมละ 1 บาท 75 สตางค์ ก็จะเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการรีบปรับสูตรการผลิตโดยลดน้ำตาลลงไปอีก คุณผู้ชมหากยังติดหวานก็ลองหาทางเลือกอื่น ๆ แทนเพื่อสุขภาพที่ดีกันถ้วนหน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง