สำเร็จ ePhyto อำนวยความสะดวกส่งออก-นำเข้า เต็มรูปแบบ ลดค่าใช้จ่าย 120 ล้านต่อปี

สำเร็จ ePhyto อำนวยความสะดวกส่งออก-นำเข้า เต็มรูปแบบ ลดค่าใช้จ่าย 120 ล้านต่อปี

View icon 94
วันที่ 31 มี.ค. 2566 | 08.33 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ไทยเดินหน้าใช้ใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (ePhyto) อำนวยความสะดวกการส่งออก นำเข้า เต็มรูปแบบ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ได้กว่า 120 ล้านบาทต่อปี

(30  มี.ค.66)  ไทยประกาศความสำเร็จความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน ส่งเสริมการใช้ใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ ( ePhyto) อำนวยความสะดวกด้านการส่งออก นำเข้า และนำผ่าน สินค้าประเภทพืชและผลิตภัณฑ์พืช แก้ปัญหาความล่าช้าและซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงาน ลดเวลาที่ใช้ในการเดินทางมายื่นคำขอใบรับรองจากหน่วยงานรัฐด้วยตนเอง อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้ตั้งแต่ปลายทางถึงผู้ผลิต ลดปัญหาการปลอมแปลงเอกสาร ในอนาคตระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์จะสามารถให้บริการผ่านระบบออนไลน์ และแลกเปลี่ยนกับประเทศคู่ค้าทางดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะปราศจากการใช้กระดาษ และการเดินทางมารับเอกสาร ทำให้ประหยัดทรัพยากรจากกระบวนการเดิมได้มาก อีกทั้งยังลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากงานเอกสาร 

ประเทศไทย เปิดตัวระบบ ePhyto อย่างเป็นทางการเมื่อเดือน พ.ค.65 เป็นภารกิจสำคัญของกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมศุลกากรเพื่อรับรองสินค้าประเภทพืชและผลิตภัณฑ์พืชสำหรับส่งออกไปยังต่างประเทศ ผู้ส่งออกของไทยสามารถยื่นคำขอใบรับรองสุขอนามัยพืชผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์และนำใบรับรองที่ได้จากระบบอิเล็กทรอนิกส์ไปสำแดงต่อประเทศผู้นำเข้าว่าสินค้าได้ปลอดโรคและแมลงศัตรูพืชตามเงื่อนไขของประเทศคู่ค้าปลายทาง

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ไทยแลกเปลี่ยนใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ePhyto กับประเทศในกลุ่มอาเซียนแล้วคือ อินโดนีเซีย และประสบความสำเร็จในการทดสอบแลกเปลี่ยนกับประเทศคู่ค้าอื่น ๆ อีก ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อาร์เจนตินา สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ชิลี ฟิจิ ฝรั่งเศส และโมร็อคโค  นอกจากนี้ มกอช. กำลังจัดเตรียมแนวทางเจรจาเพื่อกำหนดแนวทางในการใช้งานจริงกับประเทศเหล่านี้ และได้เจรจาเพื่อขอแลกเปลี่ยนใบรับรอง ePhyto กับฟิลิปปินส์ เพิ่มเติม

“มกอช. ในฐานะหน่วยงานกลางของไทยในการเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อเปิดตลาดและแก้ไขปัญหาการนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตร จะเดินหน้าเจรจากับประเทศคู่ค้าทั่วโลก เพื่อทดสอบการแลกเปลี่ยนข้อมูลและใช้งานระบบ ePhyto ตลอดจนทำการรวบรวมข้อมูลใบรับรอง ePhyto และสร้างระบบฐานข้อมูลที่สามารถแลกเปลี่ยนกับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ”

ดร. แบนด์ คริสเตียนเซน ที่ปรึกษาทูตฝ่ายอาหารและการเกษตร สถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มพันธมิตรโลกด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ได้ดำเนินโครงการ ePhyto ประเทศไทย ร่วมกับสามหน่วยงานภาครัฐของไทยประกอบด้วยกรมวิชาการเกษตร มกอช. และกรมศุลกากร รวมทั้ง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด มหาชน อย่างใกล้ชิดตั้งแต่เดือน ก.ย.64 เพื่อออกแบบและพัฒนาระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชจากรูปแบบกระดาษมาเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้ส่งออกสินค้าประเภทพืชและผลิตภัณฑ์พืชสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับประเทศคู่ค้าผ่านช่องทาง National Single Window (NSW) ซึ่งเป็นระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของประเทศไทย โดยโครงการได้สนับสนุนประเทศไทยให้สามารถเชื่อมต่อกับ ePhyto Hub เพื่อแลกเปลี่ยน ePhyto กับประเทศคู่ค้าที่ได้มีการเชื่อมต่อกับ ePhyto Hub ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการอารักขาพืชระหว่างประเทศ

นางพจมาน วงษ์สง่า ผู้อำนวยการโครงการ ePhyto ประเทศไทย กล่าวว่า GIZ สนับสนุนการพัฒนาต่อยอดระบบไอทีเพื่อให้ระบบ ePhyto ของประเทศไทยสามารถเชื่อมต่อกับ ePhyto Hub และนำไปสู่การแลกเปลี่ยน ePhyto กับประเทศคู่ค้าของไทยในรูปแบบดิจิทัลได้ อีกทั้งยังเป็นการบูรณาการด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ และการพัฒนากระบวนการทำงานภาครัฐให้ทันสมัย เพื่อตอบสนองต่อความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของเวทีการค้านานาชาติ

นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะหน่วยงานหลักนำร่องการใช้ระบบ ePhyto กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรออกใบรับรองสุขอนามัยพืชรวมทั้งหมด 409,279 ฉบับ ในปี 2564 ให้กับผู้ส่งออกพืชผักผลไม้ไปสู่ตลาดอาเซียนและตลาดโลก  คิดเป็นมูลค่าส่งออกมากถึง 784,259  ล้านบาท การใช้ ePhyto เต็มรูปแบบ ที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศคู่ค้าผ่านทางดิจิทัลได้ จะสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการการเดินทาง และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ได้กว่า 120 ล้านบาทต่อปี หรือ 3.5 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ โดยใช้ข้อมูลจำนวนใบรับรองสุขอนามัยพืชโดยที่ออกโดยเฉลี่ย 364,434 ฉบับต่อปี ระหว่างปี 2563-2565

ข่าวที่เกี่ยวข้อง