น้อมนำพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ปลัด มท. นำทีมผู้เชี่ยวชาญผ้าไทย โค้ชชิ่ง แก่กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP

น้อมนำพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ปลัด มท. นำทีมผู้เชี่ยวชาญผ้าไทย โค้ชชิ่ง แก่กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP

View icon 255
วันที่ 5 เม.ย. 2566 | 20.05 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
น้อมนำพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ปลัด มท. จับมือนายกแม่บ้าน มท. นำทีมผู้เชี่ยวชาญผ้าไทย โค้ชชิ่ง “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” แก่กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้า และช่างหัตถกรรม 14 จังหวัดปักษ์ใต้ เน้นย้ำ พัฒนาทักษะฝีมือ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ ส่งเข้าประกวด และสร้างมูลค่าที่สูงขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

วันนี้ (5 เม.ย. 66) เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมแกรนด์ฟอร์จูน อ.เมืองนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดกิจกรรม Coaching พัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ด้านผ้าไทย และงานหัตถกรรม "ผ้าลายดอกรักราชกัญญา" โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นางพิชานันท์ เผือกผ่อง ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครศรีธรรมราช นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสมพงษ์ มากมณี นายไตรรัตน์ ไชยรัตน์ นางเรืองอุไร บุญช่วยชูพันธุ์ นายศรัทธา ทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ดร.ศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและผู้เชี่ยวชาญการย้อมสีธรรมชาติ นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH นายตะวัน ก้อนแก้ว ผู้ช่วยบรรณาธิการแฟชั่น VOGUE ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมทางปัญญาและวิจัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อ.นุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติ พัฒนาการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ นางกนกพร เดชเดโช นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ประกอบการผ้าไทยและสมาชิกศิลปาชีพในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ สื่อมวลชน และภาคีเครือข่ายรวมกว่า 400 คน ร่วมกิจกรรม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงทุ่มเทในการฟื้นฟูอาชีพช่างทอผ้าให้ได้เป็นอาชีพเสริมของเกษตรกรเพื่อทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยพระราชทานแนวความคิดไปสู่การปฏิบัติ ด้วยการส่งเสริมยุยงและกระตุ้นทุกวิถีทางเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทอผ้าขายให้พระองค์ท่านก่อน เป็นที่มาของคำว่า “ขาดทุนคือกำไร” ด้วยการนำพระราชทรัพย์ ทรงรับซื้อไว้เป็นหลัก ขาดทุนของพระองค์ท่านคือกำไรของชาวบ้าน ทรงน้อมนำหลักการทรงงาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในการส่งเสริมชาวบ้านเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้สมัครใจและเห็นว่า “ชีวิตยังมีหวัง” ทั้งนี้ ด้วยทรงพบว่าพี่น้องคนไทยในทุกพื้นที่มีสายโลหิตที่รับมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย ทอผ้า นำไปสู่การจัดตั้งโครงการศิลปาชีพ เมื่อปี 2515 ถือเป็นโครงการศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถแห่งแรก โดยทรงเน้นย้ำให้ประชาชนทำงานรวมกันเป็นกลุ่ม เพื่อจะได้พึ่งพาอาศัยช่วยเหลือกัน รวมทั้งมีผู้นำต้นแบบในขณะนั้น คือ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี ข้าราชการ สวมใส่ชุดผ้าไทยในทุกวัน จนทำให้ประชาชนคนไทยในยุคนั้นนิยมสวมใส่ผ้าไทย อันเป็นต้นแบบมาถึงภาครัฐในปัจจุบัน

“ปี 2553 เราโชคดีที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อให้คนไทยทุกคนมีความสุข ดังพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” โดยทรงต่อยอดจากพื้นฐานที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงวางไว้ คือ ทำให้ชาวบ้านกลับมาทอผ้าก่อน ต่อยอดด้วยทรงใช้กลไกตลาด เริ่มต้นจากการพัฒนาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ โดยนำเอา know-how สมัยใหม่ เกี่ยวกับเรื่องแฟชั่น หัตถศิลป์เข้ามาใส่ “พุ่งเป้าไปที่คน ให้คนไปพัฒนาชิ้นงาน” เช่นเรื่องสีเคมี พระองค์ทรงมีกุศโลบาย บอกให้ประชาชนรู้ว่ามันเป็นอันตราย ใส่ในทุกวันมันก็จะซึมเข้าผิวหนัง น้ำที่เหลือจากการย้อมเทลงพื้นก็จะทำให้ดินเสีย เทลงไปในลำห้วย ปลาก็ตาย น้ำก็เน่า และควันที่ลอยขึ้นยังเป็นก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศทำให้โลกร้อน จึงทรงโน้มน้าว ให้คนใช้สีธรรมชาติ ด้วยการนำหลักการพึ่งพาตนเอง ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกต้นไม้ให้สี มาใช้ ดังนั้น พระองค์จึงทรงเป็นผู้นำเรื่อง Sustainable Fashion อย่างแท้จริง พร้อมทั้งทรงโปรดให้คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ลงมาให้คำแนะนำ มาอบรมโค้ชชิ่ง เพื่อให้ช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และทรงเน้นย้ำว่า "การทำงานเป็นทีมจะทำให้ความสำเร็จในวงกว้างบังเกิดขึ้น" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ


ผ้าลายดอกรักราชกัญญา

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวในช่วงท้ายว่า การจะพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีที่ยั่งยืนได้ “ข้าราชการต้องเป็นผู้นำเอาความรู้และเนื้อหาไปสู่พี่น้องประชาชน” ด้วยการที่ 1) ต้องมีความรู้เข้าใจถ่องแท้ และ 2) ต้องเลื่อมใส เป็นผู้นำต้องทำก่อน ด้วย ด้วยการใส่ผ้าไทยในทุกวัน ทุกโอกาส เป็นผู้มีหัวใจหรืออุดมการณ์ หรือ passion และมี creative Thinking ทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้บำบัดทุกข์ บำรุงสุข นำการพัฒนาต่อยอด ไปทำให้ประชาชนอีกหลายล้านชีวิต ได้รับการจุดประกายไฟให้มีแรงบันดาลใจในการที่จะ Change for Good ให้เกิดขึ้นในชีวิต ทำให้พี่น้องประชาชนเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ทำในสิ่งที่ถูก โดยเป้าหมายอยู่ที่ประชาชน ถ้าอยากให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็ต้องมีรายได้ดี จะมีรายได้ดีต้องมีความเชี่ยวชาญ ชำนาญในการผลิตงานหัตถศิลป์หัตถกรรมที่ถูกใจผู้คน ไม่ใช่ทำให้คนช่วยซื้อเพราะความสงสาร ต้องทำให้คนซื้อเพราะฝีมือดี ดังที่พระองค์หญิงทรงทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ด้วยการสนองพระดำริ ทำให้ผืนผ้าไทยทุกผืนเป็นผ้าที่มีคุณภาพ มีความสวยงาม และมูลค่าที่สูงขึ้น เพื่อประชาชนทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า ในโลกใบนี้ มีเพียง 20 กว่าประเทศจาก 200 กว่าประเทศทั่วโลกที่มีผ้า มีเครื่องนุ่งห่มเป็นของตนเอง และประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเป็นของตนเอง มีวัฒนธรรมการทอผ้าด้วยมือ Handmade ของตนเอง ประเทศที่เหลือเป็น Machine-made และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น นับเป็นความโชคดีของคนไทยทุกคน เพราะประเทศไทยเรานั้นเป็นเพียงประเทศเดียวที่องค์เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวง นับเนื่องตั้งแต่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีพระองค์ทรงตรากตรำพระวรกายทรงงานเคียงข้างพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เยี่ยมเยียนพระราชทานความห่วงใยแก่พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มช่างทอผ้า ที่พระองค์ท่านจะทรงงานตั้งแต่บ่ายจนถึงดึกดื่น ทรงทำในสิ่งที่เคยติดลบกลับคืนสู่ชุมชนจนเป็นอาชีพที่สร้างรายได้

“และนับเป็นบุญอย่างใหญ่หลวงของพวกเราทุกคนที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานอันแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จย่าพระองค์ท่าน ด้วยการทรงลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการต่อยอดพัฒนาผ้าไทยให้ได้รับการยอมรับและเป็นที่สนใจของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยพระองค์ทรงลงไปคลุกคลี ลงไปกระตุ้นปลุกเร้า ลงไปประทับเคียงข้างช่างทอผ้า คนทำผ้า และพระราชทานพระวินิจฉัย พระราชทานคำแนะนำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจ เพราะ “พระองค์ไม่เคยทอดทิ้งประชาชนของพระองค์” แต่ทั้งนี้ การพัฒนาด้านผ้าไทยเมื่อ 70 ปีที่ผ่านมากับการพัฒนาผ้าในปัจจุบันแตกต่างกันมาก เพราะพระองค์ทรงนำเอาวิชาการแฟชั่นและวิชาการตลาดสมัยใหม่มาเป็นแนวทางในการต่อยอดพระราชดำริของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่เข้าสู่ตลาดผู้บริโภคนั้นมีหลักสำคัญอยู่ 4 P คือ ผลิตภัณฑ์ (Product) ซึ่งถือเป็นสิ่งแรกที่จะทำให้ตลาดยอมรับ โดยพระองค์พระราชทานลายผ้า ลายแรก คือ ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ต่อมาพระราชทานลายขิดนารีรัตนราชกัญญา และชาวปักษ์ใต้โชคดีที่มีลายบาติกพระราชทาน ได้แก่ ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง ท้องทะเลไทย และป่าแดนใต้ และล่าสุด คือ ลายดอกรักราชกัญญา เพื่อให้ช่างทอผ้าได้น้อมนำไปประยุกต์ใช้ อันทำให้ผืนผ้ามีมูลค่า (Price) ที่สูงขึ้น รวมทั้งทรงส่งเสริมแนวทางการพัฒนาช่องทางการจำหน่าย (Place) และการส่งเสริมการตลาด (Promotion) ด้วยการพระราชทานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก และโปรดให้ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าตลอดวงจรตั้งแต่การผลิตจนถึงการจำหน่ายได้มาพัฒนาศักยภาพของพวกเราทุกคน ซึ่งผ้าไทยทุกผืนเป็นเงินรายได้กลับไปสร้างชีวิตที่ดีให้กับลูกหลาน กลับไปพัฒนาครอบครัว พัฒนาชุมชน และประเทศไทย แต่ทั้งนี้ "ทุกคนต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง" และพวกเราต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนแปลงเริ่มจากตัวพวกเรา เพื่อที่จะทำให้ผ้าไทยได้เฉิดฉายในตลาดทั่วโลกและมีมูลค่าที่สูงขึ้น อันหมายถึง “ชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” ดร.วันดีฯ กล่าวเน้นย้ำ

ผ้าลายดอกรักราชกัญญา

คุณธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ กล่าวว่า ขอชื่นชมผลงานของพี่น้องคนทำผ้าชาวปักษ์ใต้ที่ในช่วงที่ผ่านมาได้พัฒนาฝีมือตนเองจนเห็นพัฒนาการที่เด่นชัดขึ้น โดยในปีนี้เป็นการประกวดย่างเข้าปีที่ 3 สิ่งที่เห็น คือ มีผู้ประกอบการหน้าใหม่ส่งผ้าเข้าประกวดเป็นจำนวนมากในปีที่ผ่านมา ดังนั้น ในปีนี้ ตั้งเป้ามีผู้ส่งผ้าเข้าประกวดไม่น้อยกว่า 5,000 ผืน มีหลักเกณฑ์การประกวด เช่น ต้องส่งผลงานตามภูมิลำเนาที่ผลิต และผ้าที่ส่งเข้าประกวดต้องเป็นผ้าทอมือ หรือทำจากมือเท่านั้น และต้องระบุแหล่งที่มาของวัตถุดิบอย่างละเอียด ทั้งนี้ ผ้าหรืองานหัตถกรรมที่ส่งเข้าประกวดสามารถนำลายโบราณของแต่ละท้องถิ่นมาผสมผสานกับผ้าลายพระราชทาน "ลายดอกรักราชกัญญา" ได้ทุกประเภท โดยผลงานผ้าหรืองานหัตถกรรมต้องมีรายละเอียดแนวคิดในการทำบรรจุภัณฑ์ (Packaging)  และเรื่องเล่า (Storytelling) เป็นต้น

“พี่น้องชาวปักษ์ใต้มีความโชคดีที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานลายผ้าพระราชทานให้กับชาวปักษ์ใต้เป็นจำนวนมาก ซึ่งล่าสุด คือ “ผ้าบาติกลายพระนามาภิไธยสิริกิติ์” นอกจากนี้ ขอให้พี่น้องชาวปักษ์ใต้ได้ภาคภูมิใจว่า ผ้าบาติกเป็นผ้าที่พระองค์ทรงนำไปตัดฉลองพระองค์เยอะมาก และจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นจุดเริ่มต้นของการพระราชทานพระดำริ “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” จึงขอให้ชาวปักษ์ใต้ได้ร่วมส่งผืนผ้าเข้าประกวดกันด้วยความตั้งใจและความสนุกสนานที่ได้ทำผ้าและผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ เพราะ “ผ้าไทยใส่แล้วสนุกจริง ๆ” นอกจากนี้ ขอความร่วมมือจากข้าราชการทุกท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านพัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ ต้องศึกษาทำความเข้าใจหลักเกณฑ์กติกาต่าง ๆ เพื่อสามารถสร้างการรับรู้อธิบายให้ผู้ประกอบการได้เข้าใจอย่างถ่องแท้” คุณธนันท์รัฐฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน  “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา”  โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 4 สิงหาคม 2566 ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอในพื้นที่ภูมิลำเนาของผู้สมัคร โดยการตัดสินการประกวดระดับภาคใต้ จะจัดขึ้นในวันที่ 25 - 26 สิงหาคม 2566 รอบก่อนรองชนะเลิศ วันที่ 23 - 24 กันยายน 2566 รอบรองชนะเลิศ (Semi Final) วันที่ 30 กันยายน 2566 และรอบตัดสินระดับประเทศ (Final) ในวันที่ 31 ตุลาคม 2566

ผ้าลายดอกรักราชกัญญา

ผ้าลายดอกรักราชกัญญา

ผ้าลายดอกรักราชกัญญา

ผ้าลายดอกรักราชกัญญา

ผ้าลายดอกรักราชกัญญา