ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : ส่องรายได้จากค่าธรรมเนียมธนาคาร

View icon 61
วันที่ 5 เม.ย. 2566 | 22.23 น.
ประเด็นเด็ด 7 สี
แชร์
ประเด็นเด็ด 7 สี - หลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ กรณีธนาคารกรุงไทยประกาศ เตรียมปรับขึ้นค่าธรรมเนียม 10 บาท สำหรับการถอนเงินแบบไม่ใช้บัตร กระทั่ง ธนาคารกรุงไทย ต้องยอมถอย วันนี้ คุณธัญนันท์ เหล่าบุรินทร์ จะพาไปส่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมธนาคาร ซึ่งว่ากันว่า เป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ

จากประกาศของธนาคารกรุงไทย ก่อนหน้านี้ ว่า จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ครั้งละ 10 บาท สำหรับผู้ที่กดเงินผ่านตู้กดเงินสด หรือ ตู้เอทีเอ็มแบบไม่ใช้บัตร กระทั่งกลายเป็นไวรัล ถูกวิพากวิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์ ถึงขั้นธนาคารต้องออกประกาศ ขอยกเลิกประกาศนี้ไปในที่สุด 

เรียกได้ว่า ธนาคารกรุงไทย เป็นธนาคารแรกที่ออกมาประกาศ จะเก็บค่าธรรมเนียมการกดเงินสดแบบไม่ใช้บัตร แม้ก่อนหน้านี้ หลาย ๆ ธนาคารก็ได้หารือร่วมกันมาแล้ว ทั้งกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ รวมไปถึงธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย ซึ่งประชาชนก็มองว่า แนวทางนี้ไม่ดีนัก เพราะเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ แต่ในทางกลับกัน จะทำให้ธนาคารมีรายได้จากค่าธรรมเนียมและค่าบริการทั้งระบบ มากกว่า 180,000 ล้านบาท

ปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ใช้บริการ หลัก ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมและบริการบัตรเครดิต, บริการบัตร ATM, บัตรเดบิต หรือ ค่าบริการโอนเงิน, บริการที่ปรึกษา, การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ การดูแลและเก็บรักษาหลักทรัพย์ของลูกค้า, ค่าธรรมเนียมในการติดตามทวงถามหนี้ 

จากข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในประเทศไทย เฉพาะปีที่แล้ว มีไม่ต่ำกว่า 184,631 ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมและบริการของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในประเทศไทย อยู่ที่ 56,382 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 ช่องทาง มีทิศทางการเติบโตที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบตั้งแต่ปี 2563 และเมื่อหักลบกันแล้ว พบว่า ธนาคารพาณิชย์ของไทย มีกำไรจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ สูงถึง 28,629 ล้านบาท เลยทีเดียว

แต่หากเจาะลึกลงไปเฉพาะรายได้ ในส่วนของบริการบัตร ATM บัตรเดบิต และบริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ชัดเจนว่า ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2563 มีรายได้ 29,757 ล้านบาท แต่ในปี 2565 รายได้ลดลงมาเหลืออยู่เพียง 27,753 ล้านบาท 

การที่ธนาคารพัฒนาการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบ mobile banking และให้ถอนเงินสดแบบไม่ใช้บัตรผ่านตู้ ATM โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการก็จริง แต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้รายได้ของธนาคารลดลง