ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : ธนาคารยังไม่หยุดลดสาขา ลดพนักงาน

View icon 197
วันที่ 18 เม.ย. 2566 | 22.33 น.
ประเด็นเด็ด 7 สี
แชร์
ประเด็นเด็ด 7 สี - ตัวเลขปิดสาขาธนาคาร ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเร็ว ๆ นี้จะมีสาขาแบบ เวอร์ชัวร์แบงก์ แน่นอนว่า ทั้งจำนวนพนักงาน และสาขาธนาคารมีโอกาสจะลดลงอีก ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ เรายังติดตามเรื่องนี้กันอย่างต่อเนื่อง

ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยช่วงระยะเวลา 3 ปี สาขาธนาคารในประเทศไทย ทั้งระบบหายไปแล้วกว่า 800 แห่ง และยังคงมีสัญญาณการปิดตัวของสาขาธนาคารต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า จำนวนสาขาธนาคารในประเทศไทย ยังทยอยปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2566 เฉพาะช่วงเวลา 2 เดือนของปีที่ผ่านมา จำนวนสาขาธนาคารลดลงไปแล้ว 19 แห่ง โดยหลาย ๆ ธนาคาร เริ่มปรับรูปแบบการให้บริการ จากการให้บริการผ่านสาขา มาเป็น ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแทน โดยล่าสุดสาขาธนาคาร มีเหลืออยู่ 5,667 สาขา เฉพาะเดือนมกราคม และเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จำนวนสาขาลดลงไป 19 สาขา

โดยพบว่าในช่วงเวลา 3 ปี ธนาคารกรุงเทพ เป็นธนาคารที่มีการปรับลดจำนวนสาขาและจุดให้บริการมากที่สุด หรือลดไปแล้ว 240 สาขา, รองลงมา ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ปรับลดลง 58 สาขา, ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับลดลง 54 สาขา, ธนาคารกสิกรไทย ปรับลดลง 41 สาขา, ธนาคารกรุงไทย ปรับลดลง 31 สาขา สำหรับ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) ปรับเพิ่มขึ้น 111 แห่ง ในช่วงที่มีการควบรวมกิจการกัน แต่ถึงปัจจุบันนี้ ก็เริ่มปรับลดลงเช่นกัน

โดยธนาคารส่วนใหญ่มุ่งขับเคลื่อนองค์กรสู่โลกดิจิทัล และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ มาทดแทน แรงงานมนุษย์ ด้านพฤติกรรมของผู้ใช้บริการธนาคาร ปัจจุบันนี้ หลายคนหันหาเทคโนโลยี และลดการเดินทางไปติดต่อตามสาขา หรือจุดให้บริการ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีการพูดถึง Virtual Bank ซึ่งก็คือ ธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ ที่ไม่มีสาขา ให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก ซึ่งผู้ขอจัดตั้ง Virtual Bank ต้องมีความเชี่ยวชาญในการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล และนำเทคโนโลยี ข้อมูลที่หลากหลาย ทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลทางเลือก เช่น พฤติกรรมการใช้จ่าย มาใช้ประเมินความเสี่ยงและวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถนำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ แก่ผู้ใช้บริการในกลุ่มต่าง ๆ ได้ครบวงจรและเหมาะสม ขณะที่ Mobile Banking และ Internet Banking ของธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม จะเป็นเพียงหนึ่งในช่องทางการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเท่านั้น โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ Virtual Bank คือการให้บริการลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเน้นลูกค้ารายย่อย และ SMEs ที่คุ้นเคยกับการทำธุรกรรมบนโลกดิจิทัล

เรื่องนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า เมื่อหลักเกณฑ์ในการขอใบอนุญาต Virtual Bank หรือ ธนาคารไร้สาขา มีความชัดเจนมากขึ้น ก็คาดว่าจะได้รายชื่อของผู้ที่ได้ไลเซนส์ 3 รายแรกในปีหน้า และจะสามารถเปิดให้บริการได้ตั้งแต่กลางปี 2568 เป็นต้นไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง