สพฐ.ตรวจแก้เนื้อหาข้าวไข่ต้มคลุกน้ำปลา ให้เติมข้อความ เป็นเพียงการยกตัวอย่างเท่านั้น

สพฐ.ตรวจแก้เนื้อหาข้าวไข่ต้มคลุกน้ำปลา ให้เติมข้อความ เป็นเพียงการยกตัวอย่างเท่านั้น

View icon 187
วันที่ 24 เม.ย. 2566 | 10.49 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
สพฐ. ยอมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาในตำราเรียนภาษาพาที ป.5 สั่งตรวจแก้เนื้อหาข้าวไข่ต้มคลุกน้ำปลา ให้เติมข้อความ  “เป็นเพียงการยกตัวอย่างเท่านั้น”

จากกรณีเกิดดรามาหนังสือวิชาภาษาไทย ป.5 ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อบทเรียนดังกล่าว พยายามให้ข้อคิดเรื่องคุณค่าชีวิต โดยการให้ ด.ญ.ใยบัว ที่บ้านร่ำรวย แต่ตัดพ้อชีวิตกับเพื่อนรักว่า อยากตาย เพราะพ่อแม่ไม่เปลี่ยนโทรศัพท์มือถือให้ใหม่ เพื่อนรักที่ชื่อ ข้าวปุ้น เลยชวนไปที่บ้านเด็กกำพร้าที่เธออยู่ เพื่อให้เพื่อนไปเรียนรู้และเปลี่ยนความคิด

ซึ่งประเด็นดรามา อยู่ที่การบรรยายอาหารการกินของ ด.ญ.ข้าวปุ้น ที่ต้องกินผัดผักบุ้ง และไข่ต้มคนละครึ่งซีก เอามาบี้กับข้าวแล้วคลุกน้ำปลากิน


เพจเฟซบุ๊กมาดามแคชเมียร์ได้โพสต์หน้าหนังสือดังกล่าว และแสดงความคิดเห็นถึงค่าโภชนาการของอาหารที่เด็กได้รับ ทำให้มีผู้ใช้โซเชียล รวมถึง แพทย์ อาจารย์ ทนาย นักการเมือง และ แพรรี่ ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นวงกว้าง ส่วนใหญ่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นการกินที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ สารไม่เพียงพอต่อร่างกายเด็ก พร้อมทั้งแนะนำให้ ปรับปรุงเนื้อหาให้ถูกต้องเหมาะสม


ล่าสุด นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยอมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาในตำราเรียนภาษาพาที ป.5 เตรียมให้คณะกรรมการ สำนักวิชาการ หารือกับผู้เขียน แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหา เพื่อการสื่อสารทำความเข้าใจให้ชัดเจนเรื่องโภชนาการอาหารใหม่ ในประเด็นที่ถูกวิจารณ์ว่า ให้เด็กกินข้าวไข่ต้มซีกเดียวคลุกน้ำปลา เป็นอาหารที่ไม่ครบ 5 หมู่ โดยจะมีการเติมข้อความ ย้ำว่าเป็นเพียงการยกตัวอย่างเท่านั้น


ขณะที่ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า เนื้อหาของบทอ่านตามเจตนาของผู้แต่ง  สอนเด็กให้เรียนรู้ว่าความสุขของชีวิตอยู่ที่ใจ ไม่ใช่อยู่ที่วัตถุสิ่งของ ความสุขเกิดจากการคิดดี ทำดี และทำเพื่อส่วนรวม ทำให้ผู้อื่นมีความสุข  การพิจารณาสาระสำคัญเรื่องที่อ่าน  ต้องพิจารณาเนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ  ถึงจะเข้าใจ

ส่วนการตั้งคำถามถึงประเด็นโภชนาการที่ไม่เพียงพอของเด็ก เช่น การกินไข่ต้มครึ่งซีกกับข้าวคลุกน้ำปลา ผัดผักบุ้ง และ ขนมวุ้นกะทิ อาจไม่เพียงพอต่อปริมาณสารอาหารนั้น เป็นการตีความคลาดเคลื่อน เพราะไม่ได้ใช้วิจารณญาณแยกแยะ ระหว่างเรื่องที่แต่งขึ้นในหนังสือ กับเรื่องจริงในชีวิตประจำวัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง