กรมอนามัย ห่วงคอนเสิร์ต-ปาร์ตี แหล่งแพร่โควิด19

กรมอนามัย ห่วงคอนเสิร์ต-ปาร์ตี แหล่งแพร่โควิด19

View icon 115
วันที่ 24 เม.ย. 2566 | 11.47 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
กรมอนามัย ห่วงคอนเสิร์ต-ปาร์ตี แหล่งแพร่โควิด19 แนะประชาชนที่เข้าร่วมงาน สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือเป็นประจำ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

วันนี้ (24 เม.ย. 66) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะผู้จัดงานคอนเสิร์ต งานปาร์ตี และงานมหรสพรื่นเริงต่างๆ ยังคงให้ความสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แนะประชาชนที่เข้าร่วมงาน สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือเป็นประจำ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่พบการระบาดในไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศไทยได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ทำให้หลายพื้นที่กลับมาจัดงานต่างๆ กันมากขึ้น อาทิ การจัดคอนเสิร์ต การแข่งขันกีฬา หรือการจัดงานมหรสพรื่นเริง ทำให้มีการรวมตัวของคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเดินทางมาจากหลายพื้นที่ อาจมีการสัมผัสใกล้ชิด การร้องเพลงหรือตะโกน รวมถึงระยะเวลาการร่วมกิจกรรมใช้เวลานาน เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคโควิด-19 ได้ 
         
กรมอนามัย จึงขอให้ผู้จัดงานยังคงปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเว้นระยะห่างและกำหนดจำนวนคนต่อพื้นที่ไม่ให้หนาแน่นจนเกินไป โดยเฉพาะในอาคารพื้นที่ปิดที่อาจมีการระบายอากาศไม่ดี ที่สำคัญต้องใส่ใจเรื่องความสะอาด โดยเฉพาะจุดสัมผัสร่วม เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ไมโครโฟน ราวบันได ที่จับประตู ปุ่มกดลิฟท์ และห้องน้ำห้องส้วม จัดให้มีจุดบริการล้างมือเพียงพอ และกำจัดขยะมูลฝอยอย่างถูกสุขลักษณะทุกวัน เพื่อลดการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อไปในวงกว้าง
         
สำหรับประชาชน หากมีอาการเสี่ยงหรืออาการทางระบบทางเดินหายใจให้เลี่ยงเข้าร่วมงาน ผู้ที่เข้าร่วมงานสามารถป้องกันตนเอง โดยการสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮออล์บ่อยๆ หลังจากสัมผัสจุดสัมผัสร่วม และเมื่อกลับถึงบ้านควรเปลี่ยนเสื้อผ้าและอาบน้ำทันที
         
ทั้งนี้ หากพบว่ามีอาการ ไอ เจ็บคอ มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ หายใจลำบาก ให้ตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ถ้าผลเป็นบวก ให้สวมหน้ากากเมื่อใกล้ชิดผู้อื่น หลีกเลี่ยงใกล้ชิดกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์) และสถานที่มีคนจำนวนมาก หากอาการมากขึ้น เช่น เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาในโรงพยาบาล สำหรับกลุ่ม 608 ให้รีบไปพบแพทย์และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด