ชำแหละหนังสือภาษาพาที บทเรียน 15 ปีก่อน ใช้ไม่ได้ในปัจจุบัน ?

View icon 226
วันที่ 26 เม.ย. 2566 | 07.11 น.
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - ดรามาไม่หยุด สำหรับหนังสือเรียนภาษาพาทีของชั้นปฐมศึกษาปีที่ 5 เรียกได้ว่ามีดรามาเป็นรายวัน วันละเรื่อง กับเนื้อหาบางส่วน ถูกมองว่าไม่เหมาะสม ล้าสมัย บางเรื่องให้แง่คิดเป็นทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง

ตอนนี้มีดรามาให้เราเห็นแล้ว อย่างน้อย 3 เรื่อง อย่างการกินไข่ต้มครึ่งซีกเหยาะน้ำปลา หรือ ข้าวเปล่าคลุกน้ำผัดผักบุ้ง ที่พยายามสื่อถึงความพอเพียง คุณค่าของการใช้ชีวิต ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงถึงโภชนาการของเด็ก เพราะขัดแย้งกับโลกความเป็นจริง

เรื่องที่สอง เล่าเรื่องราวของน้องใบพลู ที่รับประทานข้าวมันไก่ แล้วน้ำจิ้มไม่เผ็ด จึงตัดสินใจไปขอน้ำปลาร้านอื่น หนังสือพยายามสื่อถึงความมีน้ำใจของคนไทย แต่สังคมตั้งคำถามถึงการใช้น้ำปลาแก้น้ำจิ้มเผ็ด ทำไมไม่ขอน้ำซุปร้านข้าวมันไก่ หรือแจ้งกับทางร้านข้าวมันไก่แทนที่เป็นร้านข้างเคียง

และยังมีเรื่องการบริจาค ซึ่งถูกวิจารณ์ว่า สอนให้บริจาคจนเงินหมด ทั้งที่เจ้าตัวมีเงินไม่มาก เช่น ผมมีเงินติดกระเป๋ามาจำนวนหนึ่ง แม้ไม่มากนัก แต่ผมยินดีบริจาคช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาทุกข์ให้พี่น้องร่วมโลก ผมหยอดเงินใส่ทุกกล่องจนเงินหมด

ทีมข่าวช่อง 7HD มาชำแหละต่อ นอกจาก 3 เรื่องดังกล่าวแล้วยังมีเนื้อหาตรงไหน ที่ส่อให้เกิดเสียงวิพากย์วิจารณ์อีก ก็พบเนื้อหาที่แปลก ๆ เช่น บทที่ 3 เรื่องภัยเงียบ ที่อธิบายความหมายของคำว่า "คนเจริญกับคนโง่" ตัวละครในหนังสือบอกว่า เพิ่งอ่านหนังสือของหลวงพ่อปัญญามา ท่านบอกว่า คนเจริญย่อมรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ หมั่นหาความรู้ใส่ตน แต่คนโง่ใช้เวลาว่างด้วยการนอนหลับ คุยแต่เรื่องไม่เป็นสาระ ซึ่งประโยคที่น่าสนใจคือ คนโง่ใช้เวลาว่างด้วยการนอนหลับ

หลายคนอาจตัดสินว่าหนังสือเรียนภาษาพาที กลายเป็นผู้ร้ายไปแล้ว แต่หลังจากทีมข่าวได้อ่านหนังสือทั้งเล่มจริง ๆ พบว่าทั้งเล่มมี 16 บท มีเพียง 3-4 บทเท่านั้นที่มีปัญหา ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ในหลาย ๆ บท ก็พบว่าให้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตได้ดี รวมถึงการชี้แนะวิถีชีวิตให้ดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวัง ให้เด็ก ๆ เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ

ดรามาไม่ได้จบแค่หนังสือ ป.5 ยังมี ป.4 อีกที่ อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ออกมาระบุเป็นเรื่องราวที่เล่าถึงเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งเห็นงูเขียวกำลังต่อสู้กับตุ๊กแก แล้วมีคุณลุงมาบอกกับเด็ก ๆ ว่าสัตว์ทั้งสองตัวไม่ได้ต่อสู้กัน แต่งูเขียวกำลังช่วยรักษาอาการท้องอืดของตุ๊กแกที่กินแมลงเข้าไปเยอะต่างหาก อาจารย์เจษฎา บอกว่าเรื่องเล่าในหนังสือไม่เป็นความจริง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นพฤติกรรมการ "ล่าเหยื่อ" และการเอาชีวิตรอด

สนามข่าว 7 สี สอบถามเรื่องนี้ไปยังนักวิชาการ บอกว่า น่าตกใจว่าหนังสือภาษาพาทีได้ถูกใช้มา 15 ปีแล้ว ค่านิยมสังคมในสมัยนั้นอาจไม่มีข้อสงสัย หรือมีคำถาม แต่โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว สังคมไทยได้ให้ความสำคัญกับความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการ หรือ สพฐ. ต้องทำคือยอมรับผิด และปรับปรุงเพื่อให้บทเรียนสามารถนำบทเรียนมาใช้ได้ในชีวิตจริง ไม่ใช่ให้เด็กตั้งคำถามว่าเรียนไปเพื่ออะไร หรือบอกว่าบทเรียนเชย ไม่น่าเรียน

เรื่องร้อนไปถึง นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ชี้แจงว่า เรื่องราวในบทเรียนในหนังสือ เป็นเรื่องสมมติ สะท้อนบุคลิกภาพของตัวละคร และสอดแทรกเนื้อหา เพื่อที่จะสอนให้เด็ก ๆ คิดดี ทำดี และอยู่ในสังคม ด้วยการพึ่งพาอาศัยกัน เรื่องราวเป็นเหมือนนิทาน ไม่ใช่ชีวิตจริง เมื่ออ่านแล้วต้องคิดวิเคราะห์ แยกแยะ คือสอนให้คิดเป็นทำเป็น

ส่วนหนังสือตำราเรียนหลายเล่มใช้กันมามากกว่า 10 ปีแล้ว สพฐ. กำลังหารือกับสำนักพิมพ์ ถึงแนวทางการปรับปรุงเนื้อหาให้ทันสมัย ทันยุค ทันเหตุการณ์ให้มากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง