สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจ

View icon 157
วันที่ 4 พ.ค. 2566 | 20.03 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 14.25 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จออก ณ วังศุโขทัย พระราชทานพระวโรกาสให้ หม่อมราชวงศ์ พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รองประธานกรรมการมูลนิธิอารยศิลป์ สิริวัณณวรีนารีรัตน์ และคณะกรรมการมูลนิธิฯ นำคณะบุคคล เฝ้า ดังนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ด๊อกเตอร์ ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฝ้า ถวายทุนการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อมูลนิธิอารยศิลป์ สิริวัณณวรีนารีรัตน์ จำนวน 4 ทุน สำหรับพระราชทานแก่นิสิตที่มีความสามารถด้านศิลปะ ได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก 

นางสาววีรินทร์ สันติวรลักษณ์ และ นางสาวพลอยไพลิน แพรอัตถ์ เฝ้า รับพระราชทานทุนการศึกษามูลนิธิอารยศิลป์ สิริวัณณวรีนารีรัตน์ ระดับปริญญาเอก สาขานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ และระดับปริญญาโท สาขาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นางสาวดลพร เกษมโกศลศรี และ นายธำมรงค์ รัตนแป้น เฝ้า รับพระราชทานทุนฝึกอบรมของมูลนิธิฯ เพื่อพัฒนาและยกระดับความรู้ด้านศิลปะ ที่สถาบัน มาชอง เลอชาจ (Maison Le sage) กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่มีชื่อเสียงด้านการปักพัสตราภรณ์ โดยจะได้รับการอบรมหลักสูตรการปักชั้นสูงเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อนำความรู้มาถ่ายทอดให้กับช่างปักไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานฝีมือช่างปักไทยให้ขึ้นสู่ระดับสากล

นายณัฐวัฒน์ สิทธิ นักเรียนทุนคนแรก ผู้ได้รับพระราชทานทุนส่วนพระองค์ ในระดับปริญญาโท และต่อมาได้รับพระราชทานทุนในระดับปริญญาเอก ด้วยทุนส่วนพระองค์และทุนของมูลนิธิฯ และสำเร็จการศึกษาดุษฎีบัณฑิต คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีการศึกษา 2565 เฝ้า ถวายรายงานผลการศึกษา และรายงานวิทยานิพนธ์

เวลา 15.09 น. เสด็จไปยังห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ ทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคกลาง ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยในแต่ละภูมิภาค สร้างการรับรู้ และเพิ่มช่องทางการตลาดให้กลุ่มผู้ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้า และงานหัตถกรรมชุมชน โดยมีกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และสมาชิกโครงการศิลปาชีพ ประเภทผ้าและหัตถกรรม ในพื้นที่ภาคกลาง กว่า 50 กลุ่ม ร่วมจัดแสดงผลิตภัณฑ์ โอกาสนี้ ทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ พร้อมพระราชทานคำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ อาทิ กลุ่มหัตถกรรมผ้าด้นมืออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่สร้างสรรค์ผ้าด้นมือเป็นชุดเครื่องนอนด้วยสีธรรมชาติ โดยทรงชื่นชมว่าเป็นงานฝีมือที่หายาก ไม่ค่อยมีคนทำ ขอให้รักษาและถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่, กลุ่มกระแตยองตอ จังหวัดชัยนาท ผ้าอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ลาวเวียง ที่มีเอกลักษณ์ในการผสมผสานลวดลายแบบโบราณ โดยใช้สีธรรมชาติ และศูนย์ศิลปิน OTOP จังหวัดลพบุรี ที่นำลายผ้าพระราชทานลายดอกรักราชกัญญา มาทอเป็นผ้าฝ้ายมัดหมี่ โดยทรงแนะนำให้ลดขนาดดอก และเพิ่มความละเอียดของลายให้ชัดขึ้น

จากนั้น พระราชทานพระวโรกาสให้ สมาชิกศิลปาชีพและกลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน 7 กลุ่ม เฝ้า นำเสนอชิ้นงานเพื่อทรงพระวินิจฉัย หลังจากได้พระราชทานคำแนะนำเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอด เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ในงานนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนภาคกลางปีที่ผ่านมา อาทิ สมาชิกศิลปาชีพกลุ่มปักผ้า อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ที่ได้ปรับชิ้นงานให้มีความโดดเด่นขึ้นทั้งลวดลาย และการใช้โทนสี, สมาชิกศิลปาชีพเซรามิก บ้านสีบัวทอง จังหวัดอ่างทอง ที่ได้ปรับขนาดของผลิตภัณฑ์ให้มีขนาดพอเหมาะ และหลากหลาย รวมถึงการเพิ่มลวดลายบนผิวเซรามิก และทดลองใช้ดินชนิดต่าง ๆ ที่จะส่งผลให้ชิ้นงานดูสว่างขึ้น

พร้อมกันนี้ โปรดให้ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าและแฟชั่นของไทย มาให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่กลุ่มทอผ้า เพื่อพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย เป็นสากลมากขึ้น และเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าไทยลายอัตลักษณ์ อาทิ ผ้าโบราณชาติพันธุ์ลาวครั่ง ของกลุ่มแต้มตะกอ จังหวัดอุทัยธานี, ผ้าซิ่นตีนจกชาติพันธุ์ไทยยวน จังหวัดราชบุรี และผ้าทอของเยาวชนที่ร่วมโครงการผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน รวมทั้ง นิทรรศการชุดสีธรรมชาติจากพืชในท้องถิ่น, สาธิตการย้อมผ้าจากสีธรรมชาติด้วยวิธีย้อมร้อน และการเขียนลายผ้าบาติกด้วยสีธรรมชาติ ลายพระนามาภิไธยสิริกิติ์ โดยกลุ่มยาริง บาติก จังหวัดปัตตานี