ห้องข่าวภาคเที่ยง - มาดูการเตรียมเลือกนายกรัฐมนตรี หนึ่งในนี้ คือ สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญ แต่รอบนี้ดูเหมือนไม่ง่าย สำหรับการได้เสียงโหวตจาก สว. จะเพราะอะไร เดี๋ยวไปไล่เรียงดูพร้อม ๆ กัน
ก่อนอื่นมาดูว่า สว. ทั้ง 250 คน ซึ่งจะมีสิทธิ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยนั้น มีที่มาจากไหนกันบ้าง เริ่มที่กลุ่ม 1 หรือ เป็น สว.โดยตำแหน่งมีทั้งหมด 6 คน คือ
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ปลัดกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
กลุ่มที่ 2 จะมาจากคณะกรรมการสรรหา คัดเลือกผู้มีความเหมาะสม จำนวน 400 คน ก่อนเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เลือกในขั้นตอนสุดท้ายให้เหลือ 194 คน
และ 3. มาจาก กกต. เปิดรับสมัครตัวแทนจากกลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ ทั่วประเทศ ให้โหวตเลือกกันเองจนเหลือ 200 คน แล้วส่งให้ คสช. เลือกในขั้นตอนสุดท้ายเหลือ 50 คน รวมทั้ง 3 กลุ่ม ก็จะได้ สว. ทั้งสิ้น 250 คน
แต่เมื่อเจาะลงที่ตัวบุคคลทั้ง 250 ท่าน หลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ แต่งตั้ง (ตามมาตรา 269 ของรัฐธรรมนูญ) พบว่าเกือบครึ่งสภาฯ หรือ 120 คน มาจาก "สภาสูง" ซึ่งล้วนเป็นอดีตสมาชิกองค์กร ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่ถูกเรียกขานว่า "แม่น้ำ 5 สาย" ประกอบด้วย
- สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 71 คน (ในจำนวนนี้ มี ผบ.เหล่าทัพ 3 คน ที่เป็น สว. โดยตำแหน่ง)
- สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) 24 คน
- คณะรัฐมนตรี (ครม.) 20 คน
- สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 5 คน (บางส่วนเป็นอดีตรัฐมนตรี)
ส่วน สว.ที่เหลือมี 104 คน มาจากการเป็น นายทหาร และตำรวจ โดยในจำนวนนี้มีน้องชายของนายพล (คสช.) คือ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (ปรากฏชื่อเป็น ส.ว. ลำดับที่ 108 และ พล.ร.อ. ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น ส.ว. ลำดับที่ 181)
ส่วนที่เหลือก็มีทั้งอดีตนักการเมือง ที่เป็น ผู้สมัคร สส. สังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และเครือญาตินักการเมือง
แต่เมื่อดูโครงสร้าง สว. ที่เราเล่ามาข้างต้น เชื่อมกับการโหวตเลือก นายกรัฐมนตรี ที่จะต้องได้ 376 เสียงในสภาฯ นั้น แต่พรรคก้าวไกล เพิ่งจะรวมได้ 310 เสียง ในรอบนี้จะบอกว่า ปิดสวิตซ์สว. แล้วคงไม่ใช่ เพราะยังต้องการเสียงอีก 66 เสียง ซึ่งก็หวังไปที่ สว. กลุ่มวิชาชีพที่มี 50 คน ตามโครงสร้าง แต่ในความเป็นจริง สว.ในกลุ่มนี้บอกกับเราว่า อย่าคาดหวังเลย ให้ไปหาจากสส.ด้วยกันจะง่ายกว่า
ส่งสัญญาณมาเต็ม และมาแบบตรง ๆ แบบนี้ ก็เรียกว่างานเข้า คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่อาจจะไม่ได้นั่งเก้าอี้นายกฯ ง่าย ๆ
สอดคล้องกับอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกรณีระยะเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งอาจารย์ได้ยกตัวอย่าง การจัดตั้งรัฐบาลผสมมา 2 ประเทศ เช่น ปี 2560 ประเทศเนเธอร์แลนด์ ใช้เวลาถึง 208 วัน หรือ ปี 2562 ประเทศเบลเยียม ก็ใช้เวลาจัดตั้งรัฐบาลผสมถึง 592 วัน หรือเกือบ ๆ 2 ปี
ส่วนประเทศไทย ก็มีสิ่งเหมือนกัน คือ มี สส. มาจากหลายพรรคและไม่มีพรรคใดจัดตั้งรัฐบาลได้ในพรรคเดียว จึงต้องตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งครั้งนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าอาจต้องใช้เวลานานกว่าปกติ
อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องจับตาการโหวตเลือกนายกฯ แต่ที่แน่ ๆ สว. ชุดนี้ ก็ยังมีเวลาทำหน้าที่ไปถึง 11 พฤษภาคม 2567 ก็จะครบ 5 ปี ตามกำหนด