ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : แตะเบรก ของมันต้องมี

View icon 46
วันที่ 18 พ.ค. 2566 | 22.33 น.
ประเด็นเด็ด 7 สี
แชร์
ประเด็นเด็ด 7 สี - ความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้ครัวเรือนไทย ทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พยายามหาหนทางสกัด หรือ ชะลอการเป็นหนี้ ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย เตรียมออก 3 กฎเหล็ก หวังปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพ ติดตามรายละเอียดกับ คุณธัญนันท์ เหล่าบุรินทร์ ในประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ

สัดส่วนหนี้สิน ภาคครัวเรือนไทย ถือว่ายังสูงมาก คนไทยเข้าสู่วงจรหนี้เร็ว หรือมีหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นเหตุผลที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เตรียมออก 3 กฎ เพื่อให้การ ปล่อยสินเชื่อใหม่ มีคุณภาพมากขึ้น และเป็นการชะลอการก่อหนี้

เมื่อเราไปดูสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทย ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี จะพบว่า ช่วง 3 เดือนสุดท้าย หรือไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนไทย อยู่ที่ระดับ 86.9%ของจีดีพี

ซึ่งเมื่อสัดส่วนหนี้เกิน 80% ถือว่า อยู่ในระดับที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากเกินกว่ามาตรฐานสากลที่ยอมรับได้ และหากคิดเป็นมูลค่าหนี้ ก็เท่ากับว่า ก้อนหนี้ มีกว่า 15 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคและหนี้บัตรเครดิต เป็นสัดส่วนมากถึง 60% ส่วนอีก 40% เป็นหนี้ที่ดี หรือหนี้เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ หรือหนี้บ้าน ที่เป็นสินทรัพย์จำเป็น

และจากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร พบว่า คนไทยเริ่มเข้าวงจรการเป็นหนี้เร็ว โดยพบว่า จากคนไทยอายุ 25 ปี ทั้งหมด 4.8 ล้านคน จำนวนกว่า 58% เริ่มเป็นหนี้แล้ว และหนี้ส่วนหนึ่ง กว่า 25% ของจำนวนหนี้ กลายเป็นหนี้เสีย

ซึ่งพบว่า คนไทยมีหนี้รวมกันเฉลี่ยแล้ว คนละ 4 บัญชี และพบคนที่มีหนี้สูงสุด มีหนี้มากถึง 25 เท่าของเงินเดือน ซึ่งถือว่าสูงมาก และน่ากลัวตรงที่ หากพิจารณาความเป็นหนี้นาน พบว่าคนไทย เป็นหนี้เกือบตลอดทั้งชีวิต โดยพบว่า คนไทยที่เกษียณไปแล้ว หรืออายุมากกว่า 60 ปี ยังมีหนี้ค้างที่ต้องจ่ายต่อไป ประมาณ 400,000 บาทต่อคน

ส่วนหนี้นอกระบบ จากการทำวิจัยของ​สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สำรวจคนไทย 4,600 ครัวเรือน พบ 42% มีหนี้นอกระบบ โดยเฉลี่ยคนละ 54,000 บาท ซึ่งหลังช่วงโควิด-19 พบว่า จำนวนบัญชี ที่เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น โดยจากหนี้เสีย 10 ล้านบัญชี มีหนี้เสียที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด ถึง 4.5 ล้านบัญชี โดยอยู่กับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 70% และบริษัทให้สินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ นอนแบงก์ อีก 20%

ซึ่งต้องเร่งประชาสัมพันธ์ ให้มาแก้หนี้โดยเร็ว เพราะทั้งหมด ยังคงเป็นความกังวลของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ในการเข้าไปแก้ปัญหา

ส่วนสาเหตุการเป็นหนี้ นอกเหนือจากการสร้างหนี้เพื่อใช้จ่าย และการสร้างหนี้จากกรณีจำเป็น หรือฉุกเฉิน ยังพบด้วยว่า คนไทยบางส่วน เป็นหนี้ โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจ และเป็นหนี้จากการถูกกระตุ้น และชักจูงใจ

โดยธนาคารแห่งประเทศไทย เตรียมแผนดำเนินการ 3 แนวทาง แนวทางแรก คือ การสร้างลูกหนี้และเจ้าหนี้ที่มีคุณภาพ โดยต้องให้ข้อมูลเงื่อนไขต่าง ๆ อย่างครบถ้วนแก่ลูกหนี้ และการใช้คำโฆษณา ต้องไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เพิ่ม ส่วนแนวทางต่อมา คือ การปล่อยสินเชื่อ จะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของลูกหนี้ ไม่ใช่ปล่อยเพื่อเร่งยอดเพียงอย่างเดียว

และอีกแนวทางคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย จะกำหนดมาตรการเพิ่มเติม เช่น กำหนดยอดผ่อนชำระ ที่สอดคล้องกับรายได้, ระยะเวลาผ่อนชำระ หรือสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงให้กับทุกฝ่าย

ทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามา จะได้ผลหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนทางการเงินที่ดี ใครที่มีหนี้หลายก้อนอาจต้องปรับโครงสร้างหนี้ รวบรวมหนี้เป็นก้อนเดียว หรือ แบ่งชำระหนี้ ที่ดอกเบี้ยสูง ๆ ก่อน สำคัญที่สุด ต้องหักห้ามใจ ถ้าของชิ้นไหนไม่จำเป็น ไม่ต้องมีก็ได้ จะได้ไม่ต้องเป็นหนี้