ถอดบทเรียนสารคดี “ภารกิจเปลี่ยนโลก” เตือนไทยเสี่ยงผลกระทบโลกร้อน จากร้อนสุดๆ สู่ร้อนสุดขีด

ถอดบทเรียนสารคดี “ภารกิจเปลี่ยนโลก” เตือนไทยเสี่ยงผลกระทบโลกร้อน จากร้อนสุดๆ สู่ร้อนสุดขีด

View icon 692
วันที่ 21 พ.ค. 2566 | 09.40 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต พร้อมด้วย น.ส.ดาริน กำเนิดรัตน์ ผู้สื่อข่าวอิสระ และบริษัท คราวน์ สตูดิโอ โปรดักชั่น จำกัด ที่ได้ร่วมกันผลิตสารคดีชุดนี้ตลอดฤดูฝนปี 2565 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของปรากฎการณ์ลานีญา หรือ ปีเปียก ที่ทำให้ประเทศไทยเกิดน้ำท่วมหนักติดต่อกัน 2 ปี

646984b52ce462.51924371.jpg

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ กล่าวว่า บทเรียนจากน้ำท่วมไทยปี 2565 แสดงให้เห็นว่าการประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมยังไม่มีประสิทธิภาพ การพยากรณ์เตือนภัยน้ำท่วมในระดับชุมชนขาดเจ้าภาพ และไม่มีความชัดเจน ทำให้เกิดความเสียหาย รวมทั้งการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการน้ำยังอยู่ในวงจำกัด

646984b4620a78.00950802.jpg

ทีมสารคดีภารกิจเปลี่ยนโลก ยังได้ไปถ่ายทำการแก้ปัญหาและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศสิงคโปร์ และพบว่ารัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการวางแผนระยะยาว 10 ปี ด้วยการจัดสรรงบประมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อรับมือกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น รวมทั้งมาตรการสร้างคันกั้นน้ำรอบเกาะสิงคโปร์เพื่อป้องกันน้ำทะเลหนุนสูงในอีก 80 ปีข้างหน้า

รศ.ดร.เสรีกล่าว บอกอีกว่า การแก้ปัญหาของสิงคโปร์สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้โดยตรง ทั้งการป้องกันน้ำทะเลหนุนสูง การป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง เช่น การก่อสร้างทางผันน้ำ การก่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำใต้ดิน และประตูปิดปากแม่น้ำ เพื่อควบคุมระดับจากน้ำทะเลที่สูงขึ้น ดังที่ได้นำเสนอในสารคดีชุด ภารกิจเปลี่ยนโลก ซึ่งได้รับความร่วมมือในการถ่ายทำจากหน่วยงานจัดการน้ำแห่งชาติสิงคโปร์ (Singapore's National Water Agency) หรือ PUB

646984b6edbc98.27370302.jpg

ขณะนี้สารคดีชุด “ภารกิจเปลี่ยนโลก” 9 ตอน ได้เผยแพร่ผ่าน Facebook กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ https://www.facebook.com/watch/100064661113249/215594401111770 , Facebook พื้นที่ปลอดภัย Disaster and Hazard  https://www.facebook.com/safezonethailand , YouTube https://youtube.com/playlist?list=PLBWMtLBc8Akh0dI44Npl-uO-GWP7lvG5H เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของรหัสแดงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการรับมือทั้งในประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์

รศ.ดร.เสรี ยังย้ำว่า โลกและประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ปรากฎการณ์เอลนีโญตั้งแต่กลางปี 2566 โดยจะมีระดับความรุนแรงสูงสุดประมาณปลายปีนี้ ส่งผลให้ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในแต่ละเดือน และอาจจะแตะระดับสูงสุดในเดือนเมษายนปี 2567 ปริมาณฝนในช่วงปลายฤดูฝนอาจจะลดลงน้อยกว่าปกติประมาณ 5-20% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับภาคการเกษตร โดยเฉพาะฤดูการทำนาปรังใน 6 เดือนแรกของปี 2567 แต่ในช่วงฤดูฝน ก็อาจจะเกิดน้ำท่วมจากฝนตกหนักในชุมชนจนทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมรอระบาย และอาจเกิดน้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุจรซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้

646984b5009771.22079839.jpg

เบื้องต้นประเมินว่า ปรากฎการณ์เอลนีโญจะยังคงมีอิทธิพลต่อสภาพอากาศตั้งแต่ปี 2566-2571 โดยจะยกระดับความรุนแรงขึ้นในปลายปี 2566, 2569 และ 2571 ตามลำดับ ดังนั้นในช่วง 5 ปีนี้ โอกาสที่จะเกิดฝนตกหนักน้ำท่วมใหญ่จึงมีความเป็นไปได้น้อย แต่คาดว่าปี 2572-2573 ปรากฎการณ์ลานีญา หรือ ปีเปียก จะกลับมา และอาจจะมีความรุนแรงมากกว่าปี 2554 ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมใหญ่กว่าปี 2554 ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสภาพอากาศแปรปรวนมีความสำคัญ แต่การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของพื้นที่ก็สำคัญเช่นกัน การลดลงของพื้นที่รับน้ำ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำจากการเติบโตของเมือง การสร้างคันกั้นน้ำในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ระดับน้ำยกตัวสูงขึ้น เช่น ในปี 2564 และ 2565 (แม้ว่าปริมาณน้ำในลุ่มน้ำต่างๆจะน้อยกว่าปี 2554) ดังนั้นการเตรียมพร้อมรับมือในช่วง 5 ปีจากนี้ไป เป็นโอกาสดีที่ต้องประเมินผลกระทบจาก 3 ปัจจัย คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศแปรปรวน และการเปลี่ยนสภาพกายภาพในพื้นที่ เพื่อเตรียมมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบน้ำท่วมใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในปี 2572-2573

ข่าวที่เกี่ยวข้อง