จิตแพทย์ แนะสังคมเห็นต่างทางการเมืองได้ แต่อย่าใช้อารมณ์ ไม่สร้างความเกลียดชัง

จิตแพทย์ แนะสังคมเห็นต่างทางการเมืองได้ แต่อย่าใช้อารมณ์ ไม่สร้างความเกลียดชัง

View icon 413
วันที่ 22 พ.ค. 2566 | 14.37 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
จิตแพทย์ เผยคนสนใจการเมืองเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่าเครียดมาก อย่าใช้อารมณ์ตัดสิน อย่าสร้างความเกลียดชังในสังคม  ย้ำประเทศจะก้าวหน้าต่อไปได้ต้องอยู่ได้ท่ามกลางความแตกต่าง 

วันนี้ (22 พ.ค.66)  นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์  ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต  กล่าวถึงกระแสการวิจารณ์ การแสดงความเห็นทางการเมืองของสังคมไทยที่เกิดขึ้นจนหลายคนห่วงว่า อาจนำไปสู่ความรุนแรงในสังคมได้ ว่า การให้ความสนใจด้านการเมืองเป็นเรื่องดี แสดงว่าคนไทยห่วงบ้านเมือง อยากเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้า จากการที่ประชาชนมีส่วนร่วม  แต่สิ่งต้องระวังมาก ๆ มี 2 ประเด็น คือ

ประเด็นแรก  อย่าเครียดมากจนเกินไป จนกระทั่งเสียสุขภาพจิตของตัวเอง และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตคนรอบข้าง ยิ่งหากมีการแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อออนไลน์ กระจายในสื่อสังคมก็จะยิ่งเกิดความเครียดมากขึ้น  ซึ่งจะสัมพันธ์กับประเด็นที่สอง คือ การสร้างเฟคนิวส์ (Fake news) หรือสร้างความเกลียดชังในสังคม เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น  การห่วงใยบ้านเมืองควรเป็นเรื่องดีแต่ต้องไม่สร้างบรรยากาศความเกลียดชัง หรือเฟคนิวส์

ประเด็นสำคัญ ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดตัวเอง หรือมายเซ็ท(Mindset) ของเรา โดยการมองเรื่องความต่าง เหมือนเป็นต้นทุนของสังคม มากกว่าการมองว่าเป็นเรื่องความดี ไม่ดี ความถูกหรือผิด หากเราเปิดใจเรื่องนี้ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารก็จะเป็นไปด้วยความมีเหตุผลมากกว่าใช้อารมณ์ เพราะหากใช้อารมณ์มากก็จะเครียดมาก และสร้างความกระทบกระทั่งกันมาก โดยเฉพาะการสร้าง ผลิตข้อมูลเกลียดชัง หรือเฮดสปีด (Hate Speech) ก็จะนำไปสู่ความรุนแรง   ยิ่งหากมองว่าอีกฝ่ายไม่ดีก็จะนำไปสู่ความรุนแรง จากวาจาไปสู่การกระทำ จะนำมาสู่ความยุ่งเหยิง ความปั่นป่วนทางสังคม

“หัวใจสำคัญจึงต้องเปิดใจกว้าง ในการยอมรับเหตุผลโดยไม่ใช้อารมณ์ ซึ่งตัวที่ทำให้เกิดการใช้อารมณ์มาก คือ เฮดสปีด และเฟคนิวส์ มีการระบาดในสื่อสังคมมาก อย่างในกลุ่มคนๆหนึ่งมีวงไลน์ 50 วง หากเราส่งไป ก็จะกระจายไปเรื่อยๆจาก 50 วง อาจเป็น 2,500 วง และเมื่อส่งไปเรื่อยๆก็เป็นล้านๆ” นพ.ยงยุทธกล่าว

นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า  โดยหลักของสุขภาพจิตจะมีหลักสำคัญ คือ “ 2 ไม่ 1 เตือน” โดย 2 ไม่ คือ ไม่สร้างข้อมูลสร้างความเกลียดชัง ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสร้าง แต่จะเป็นเรื่องส่งต่อ ดังนั้น จึงไม่ควรส่งต่อข้อความเหล่านี้ เพราะจะทำให้สังคมขาดวุฒิภาวะในการยอมรับความเห็นต่างอย่างมีเหตุผล และ 1 เตือน คือ การเตือนคนที่ส่งข้อมูลที่ขาดความยับยั้งชั่งใจ  ซึ่งการเตือนต้องเตือนอย่างสุภาพ ไม่ทะเลาะกัน

“สิ่งสำคัญเพื่อเพิ่มความมีเหตุมีผลขอให้ใช้ 1 เตือน 2 ไม่ ที่ต้องระวังที่สุดคือ อย่าใช้อารมณ์มากเกินไป ประเทศที่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ ต้องอยู่ได้ท่ามกลางความแตกต่าง เพราะความแตกต่าง เป็นโอกาส เป็นทางเลือกของสังคม เพราะหากเราเลือกอยู่ทางเดียว เมื่อเกิดปัญหาก็จะไม่มีทางออก การที่มีหลายทางเลือกจึงเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งในหลายประเทศที่ผ่านวุฒิภาวะ ผ่านสิ่งต่างๆมาเยอะแยะ จะรู้ว่า ความต่างไม่ใช่ความผิด ความต่างไม่ใช่อาชญากรรม แต่การสร้างเฮดสปีดสร้างความเกลียดชัง คือ การสร้างความรุนแรง” นพ.ยงยุทธ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง