ภาคการผลิตหนุน นโยบายขึ้นค่าแรงวันละ 450 บาท พร้อมเตือนควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป สกัดปิดกิจการ

View icon 70
วันที่ 26 พ.ค. 2566 | 07.02 น.
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - นโยบายการขึ้นค่าแรงของ "ว่าที่รัฐบาล" ทั้งตัวเลข 450 บาทต่อวัน หรือ 600 บาทต่อวัน เป็นประเด็นร้อนต่อเนื่อง มีทั้งเสียงหนุน และเสียงเตือนให้แตะเบรก แต่ล่าสุด "ว่าที่รัฐบาล" ก็ส่งสัญญาณแน่ชัดว่า ขึ้นค่าแรงเจอกันแน่ภายใน 100 วัน ของการเป็นรัฐบาล

ภาคการผลิตหนุน นโยบายขึ้นค่าแรงวันละ 450 บาท พร้อมเตือนควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป สกัดปิดกิจการ
ทีมข่าวของเราตรวจสอบเพิ่มกับ สมาคมค้าส่งค้าปลีกไทย และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เห็นตรงกันว่า เป็นเรื่องดีในการจะปรับโครงสร้างค่าแรง ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน
 
แต่ขณะเดียวกันก็มีความเป็นห่วงว่า การปรับขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดและเร็วเกินไปจะมีผลเชิงลบ โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ที่อาจจะเสี่ยงต่อการปิดกิจการ ดังนั้น จึงควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ทุกฝ่ายมีเวลาปรับตัว

ภาคอสังหาฯ โอดค่าแรงวันละ 450 บาท หวั่นปรับตัวไม่ทัน - ราคาที่อยู่อาศัยจ่อเพิ่มขึ้น
ขณะที่ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ก็กังวลว่า การปรับขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดด จะทำให้เดือดร้อนกันทั้งระบบ เพราะต้นทุนจะต้องเพิ่มขึ้น สุดท้ายไม่พ้นต้องไปขึ้นราคาบ้านและที่อยู่อาศัยตามไปด้วย จึงอยากให้รัฐบาลตั้งกองทุนเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทันทีหากจะขึ้นค่าแรงจริง

สภาองค์การนายจ้างฯ หวั่นค่าแรงวันละ 450 บาท ธุรกิจจ่อแห่ย้ายฐานซ้ำรอย ปี 2556
เช่นเดียวกับ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ก็กังวลว่า การขึ้นค่าแรง 450 บาทต่อวัน เสี่ยงจะเกิดการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อปี 2556 โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ทั้งธุรกิจสิ่งทอ, รองเท้า, โรงงานปลากระป๋อง และชิ้นส่วนบางประเภท ที่พากันย้ายฐานการผลิต โรงงานต้องปิด คนต้องตกงาน เพราะอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในบ้านเราเป็นการรับจ้างการผลิต และ 90 เปอร์เซ็นต์ ก็เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม (SMEs) ซึ่งรับตัวเลขค่าแรงที่สูงนี้ไม่ไหว ดังนั้น การขึ้นค่าแรงจึงควรมีขั้นตอน ป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบตามมา

นักวิชาการ มธ. ห่วงค่าแรงวันละ 450 บาท กระทบผู้ประกอบการส่อพับกิจการ - ภาวะตกงานจ่อเพิ่ม
สอดคล้องกับนักวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่า การขึ้นค่าแรงตอนนี้จะยิ่งซ้ำเติมผู้ประกอบการและแรงงาน จนไม่สามารถดำเนินกิจการ และหางานทำได้อีกหากถูกเลิกจ้าง รวมทั้งยังอาจเผชิญกับการลักลอบเข้ามาทำงานของแรงงานต่างชาติ จนกลายเป็นภาระซ้ำซ้อนที่รัฐบาลแก้ไม่ตก

ว่อนโซเชียล พิธา ถูกสอนงานปมขึ้นค่าแรง - เพิ่มวันลาคลอด
นอกจากภาคอุตสาหกรรมจะพากันผวาเรื่องการขึ้นค่าแรง เมื่อวานนี้ก็มีคลิปหนึ่งที่ว่อนโซเชียล ระหว่างที่ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไปหารือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (เมื่อ 23 พ.ค.66) เกี่ยวกับนโยบายลาคลอด 6 เดือน

ก็ต้องบอกว่า โดนเพิ่มอีกดอกสำหรับพรรคก้าวไกล ที่มีนโยบายขยายสิทธิลาคลอดจากปัจจุบัน 98 วัน เพิ่มเป็น 180 วัน ซึ่งในมุมของอดีตประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี อยากให้นายจ้างเปิดใจ คำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดต่อตัวเด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติ

สุดท้ายแล้ว นโยบายก้าวไกล ทั้งการขึ้นค่าแรงจะทำได้จริงภายใน 100 วัน หรือไม่ รวมทั้งการเพิ่มวันลาคลอด ก็เป็นเรื่องที่ต้องปักหมุด ปูเสื่อรอดู แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ต้องตั้งรัฐบาลให้สำเร็จเสียก่อน