ประธานสภาฯ พรรคร่วมตั้งรัฐบาลมีความเห็นหลากหลาย

View icon 32
วันที่ 26 พ.ค. 2566 | 11.22 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - ต้องมาติดตามการเลือกประธานสภาฯ ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะมาพรรคเพื่อไทย หรือ ก้าวไกล แต่ "วันมูหะมัดนอร์ มะทา" พร้อมนั่งหากตกลงกันไม่ได้

ประธานสภาฯ พรรคร่วมตั้งรัฐบาลมีความเห็นหลากหลาย
พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ที่ยังคงมีการพูดกันบนสังคมออนไลน์ทั้งของพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงพรรคไทยสร้างไทยที่ออกมาแสดงความเห็นอย่าง นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคไทยสร้างไทย ที่ไม่อยากให้มีการแย่งตำแหน่งดังกล่าวภายในพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเช่นเดียวกับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคที่ไม่อยากให้ฟรีโหวตเพราะมีการลงบันทึกความเข้าใจในการจัดตั้งรัฐบาลกันแล้ว

พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความเช่นกัน ว่ารัฐบาลผสมมีภารกิจสำคัญใน MOU ร่วมกัน ไม่ว่าประธานสภาฯ มาจากพรรคใดก็ต้องทางผลักดัน ทุกนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลให้สำเร็จ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 และ 119 ประธานสภาต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ไม่ใช่ผลักดันวาระของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น และในวงเจรจาที่ผ่านมาทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า การจัดสรรตำแหน่งจะคำนึงถึงความยุติธรรมกับทั้งสองฝ่ายเป็นหลัก

ขณะที่ว่าที่ สส. ของพรรคเพื่อไทยทยอยออกมาแสดงความเห็นถึงตำแหน่งประธานสภาฯ กันมากยิ่งขึ้นถึงหน้าที่ของประธานสภาฯที่ต้องเป็นกลางและผลักดันกฎหมายของทุกพรรคการเมือง

พรรคก้าวไกล ยังลงข้อความในเฟซบุ๊ก เสนอ 300 นโยบายที่ให้สัญญาประชาคมไว้กับประชาชนในการเลือกตั้ง ที่พยายามบรรจุไว้ใน MOU จัดตั้งรัฐบาลให้ได้มากที่สุด เพื่อผลักดันผ่านกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งจนถึงตอนนี้ ต้องรอการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้งว่าพรรคไหนจะรับผิดชอบกระทรวงใด และวาระของแต่ละกระทรวงจะมีอะไรบ้าง รวมถึงการผลักดันผ่าน "กลไกนิติบัญญัติ" ของระบบรัฐสภาโดยผู้แทนราษฎรของพรรค ของร่างกฎหมายอย่างน้อย 45 ฉบับ เตรียมยื่นต่อสภาฯ อาทิ กฎหมายการเมือง กฎหมายปฏิรูปที่ดิน กฎหมายแรงงาน 2 ฉบับ

นอกจากนี้ ก็ยังมีการพูดถึงชื่อบุคคลที่ 3 อย่าง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ว่า มีความเหมาะสมในการนั่งตำแหน่งประธานสภาฯจนเป็นที่กล่าวขานว่า ตาอินกับตานาที่มัวแย่งกัน สุดท้ายจะเสร็จตาอยู่หรือไม่

เรื่องนี้ทีมข่าวของเรา ตรวจสอบไปยังเจ้าตัว บอกว่า ถ้าพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย เสนอคนในพรรคนั่งประธานสภาฯ พร้อมกัน จะโหวตให้กับพรรคที่ได้เสียงข้างมากก่อน แต่หากทั้ง 2 พรรค ตกลงกันไม่ได้ ก็พร้อมเข้ามาทำหน้าที่อย่างเป็นกลางโดยอิงประโยชน์ประชาชนมาก่อน

ด้าน พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย มองว่า เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ถึงขั้นแตกแยก เพียงแต่ว่าต้องหารือกัน และอยากให้พรรคก้าวไกล มุ่งเป้าไปที่เรื่องโหวตนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีให้ได้ก่อน เรื่องอะไรที่ยอมได้ ควรยอมไปก่อน

พรรคเพื่อไทรวมพลัง ไม่ขอก้าวก่ายเลือกประธานสภาฯ
ด้าน นายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง บอกว่า ไม่อยากก้าวก้าย เพราะเป็นพรรคเล็ก แต่อยากให้ทั้ง 2 พรรค ถอยหลังคนละก้าว เพื่อเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล ส่วนกรณีมีความใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทย ก็ไม่ปฏิเสธ เพราะมีความเกี่ยวดองทางสายเลือดกับ ตระกูลหวังศุภกิจโกศล แต่ยืนยันการทำงานของพรรคมีอิสระ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง