ไข้เลือดออกระบาด ป่วยแล้ว 1.5 หมื่นคน เพิ่มสูงขึ้น 5.4 เท่า

ไข้เลือดออกระบาด ป่วยแล้ว 1.5 หมื่นคน เพิ่มสูงขึ้น 5.4 เท่า

View icon 290
วันที่ 26 พ.ค. 2566 | 11.08 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ไข้เลือดออกกลับมาระบาด ปีนี้ป่วยแล้ว 1.5 หมื่นคน เพิ่มสูงขึ้น 5.4 เท่า ตาย 13 คน ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ หวั่นระบาดใหญ่ กรมควบคุมโรคเปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ สกัดโรคลดอัตราป่วย-ตาย

ไข้เลือดออก วันนี้ (26 พ.ค.66) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบรายงานผู้ป่วยโรคติดต่อนำโดยยุงลายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก ข้อมูลจากรายงานในปี 66 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 15,399  คน  มากกว่าปี 65 ในช่วงเวลาเดียวกันถึง 5.4 เท่า อีกทั้งยังพบผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก 13 คน พื้นที่ระบาด 5 จังหวัดแรก ที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ น่าน ตราด ชุมพร จันทบุรี และตาก ซึ่งไม่ใช่เหตุการณ์ปกติและเข้าเกณฑ์ที่จะต้องเปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ของกรมควบคุมโรค จัดการป้องกันควบคุมโรคให้เกิดประสิทธิผลให้ได้มากที่สุด

ข้อมูลการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลายของกองโรคติดต่อนำโดยแมลง พบว่า “วัด” เป็นสถานที่ที่พบลูกน้ำสูงสุด (ร้อยละ 64.6) รองลงมาคือโรงเรียน (ร้อยละ 55.1) สถานที่ราชการและโรงงาน พบมากเป็นลำดับถัดมา ความสำคัญคือ “วัด” เป็นสถานที่มีประชาชนเข้ามาทำบุญ อาจเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรค และโรงเรียนคือสถานที่ที่มีกลุ่มเสี่ยงคือเด็กนักเรียนกลุ่มวัย 5 ขวบขึ้นไป ซึ่งจากสถิติเป็นกลุ่มที่มีรายงานการป่วยมากที่สุด

สำหรับประชาชน หากมีอาการป่วยหรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ซื้อยารับประทานเองโดยเฉพาะยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารได้ง่าย และยากต่อการรักษา ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิต

นพ.รัฐพงษ์ บุรีวงษ์ ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กล่าวว่า การเปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ มีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกของประเทศไทยให้ไม่เกินค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี ภายในเดือนมิถุนายนและตลอดช่วงฤดูฝน (มิ.ย. - ส.ค.) และลดอัตราป่วยตายให้ไม่เกินร้อยละ 0.10 ในปี 2566 โดยใช้กลยุทธ์การติดตามกำกับและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในทุกจังหวัดของประเทศไทย สอบสวนแหล่งแพร่โรคและควบคุมโรคในจังหวัดที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก สื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์เรื่องโรคไข้เลือดออกด้วยสื่อที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย