เงินเดือนไม่ขึ้น แต่ถูกขอลดค่าจ้าง สิทธิลูกจ้างทำอะไรได้แค่ไหน?

เงินเดือนไม่ขึ้น แต่ถูกขอลดค่าจ้าง สิทธิลูกจ้างทำอะไรได้แค่ไหน?

View icon 573
วันที่ 28 พ.ค. 2566 | 20.24 น.
ข่าวในประเทศ
แชร์
ทำงานมาหลายปี บริษัทไม่ขึ้นค่าแรงให้ แถมนายจ้างยังบอกขอลดเงินเดือนอีก มนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ทางเดียว ไม่ยินยอมได้ไหม ทีมข่าว Ch 7HD News นำข้อกฎหมายเรื่องนี้มาฝาก

ปกติหลายบริษัทมีเกณฑ์ปรับขึ้นเงินเดือนต่างกัน โดยอาจวัดค่าประสิทธิภาพหรือผลการทำงาน รวมถึงผลประกอบการของบริษัท แต่หากบริษัทไม่ปรับขึ้นเงินเดือนให้ทุกปีก็ไม่มีความผิด เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับว่านายจ้างจะต้องขึ้นเงินเดือนทุกปี เพียงแต่การจ่ายค่าจ้างต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

แต่ถ้าการจ้างงานมีสัญญาข้อตกลงเกี่ยวกับเงินเดือนที่จะต้องขึ้นเงินเดือนไม่น้อยกว่าปีละกี่บาท หรือขึ้นค่าจ้างจากเปอร์เซ็นต์ของกำไร แบบนี้นายจ้างก็ต้องขึ้นเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างตามผลผูกพันนั้น

ส่วนกรณีบริษัทขอลดเงินเดือนหรือลดค่าจ้างนั้น ตามหลักกฎหมายถือว่าเป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้างเกี่ยวกับจำนวนค่าจ้างและเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นคุณกับลูกจ้าง ซึ่งนายจ้างไม่สามารถทำได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

เมื่อลูกจ้างไม่ยินยอม แต่นายจ้างก็ยังยืนยันที่จะลดและจ่ายเงินเดือน หรือเล่นแง่จ่ายเงินเดือนไม่ครบถ้วนลูกจ้างใช้สิทธิร้องเรียนได้ที่กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานในเขตพื้นที่ที่ตัวเองทำงานอยู่หรือฟ้องร้องต่อศาลได้ ซึ่งการทำแบบนี้ก็ต้องเสี่ยงกับที่ตัวเองจะถูกไล่ออก ถ้าเกิดขึ้นจริงก็เป็นการไล่ออกโดยที่ลูกจ้างไม่มีความผิด ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามอายุการทำงาน และถ้าให้ออกทันที โดยไม่แจ้งล่วงหน้า  ก็ต้องจ่ายค่าตกใจให้ด้วย นอกจากนี้ ลูกจ้างยังมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม การถูกลดเงินเดือนมานาน โดยที่ลูกจ้างไม่ทักท้วงเรียกร้องสิทธิ ก็จะถือว่าลูกจ้างนั้นยินยอมให้เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยปริยาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง