จับตา ทุเรียนไทย เจอคู่แข่งต่อคิวขอส่งทุเรียนเข้าไปขายในจีน

จับตา ทุเรียนไทย เจอคู่แข่งต่อคิวขอส่งทุเรียนเข้าไปขายในจีน

View icon 518
วันที่ 29 พ.ค. 2566 | 15.23 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
จีนยังชื่นชอบทุเรียนไทย แต่เริ่มเปิดใจชิมทุเรียนชาติอื่นมากขึ้น เปิดให้เวียดนาม ฟิลิปปินส์ส่งทุเรียนเข้าไปขายในจีนได้แล้ว อีกหลายประเทศกำลังต่อคิวส่งทุเรียนเข้าจีน แนะไทยต้องรีบชิงความได้เปรียบ รักษาแชมป์ส่งออกไปจีนให้ได้ คาดอีก 5 ปี จีนกินทุเรียนเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านตัน

วันนี้ (29 พ.ค.66)  ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักภาคใต้  เปิดเผยบทความ “จับตาสถานการณ์ทุเรียนไทย เมื่อคู่แข่งรุก บุกตลาดจีน” ว่า

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไทยครองแชมป์ “ผู้ส่งออกทุเรียนอันดับ 1ของโลก” โดยเฉพาะในตลาดจีน ซึ่งไทยครองส่วนแบ่งการตลาดเกือบทั้งหมด แต่ปัจจุบันมีหลายปัจจัยที่คาดว่าจะเข้ามาสั่นคลอนตลาดทุเรียนไทย ทั้งฝั่งของคู่แข่งที่เข้ามาแย่งชิงตลาดมากขึ้น และผู้บริโภคชาวจีนที่ให้ความสนใจทุเรียนจากประเทศอื่นมากขึ้น

ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกทุเรียนของไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยปี 2565 มูลค่าการส่งออกทุเรียนไทย ทำสถิติสูงสุดที่ 1.24 แสนล้านบาท ครองแชมป์ผลไม้ส่งออกอันดับ 1 ของไทย โดยทุเรียนไทยเกือบทั้งหมด ที่ส่งไปตลาดจีนจะเป็นทุเรียนผลสด เนื่องจากไทยเป็นประเทศเดียวที่จีนอนุญาตให้ส่งทุเรียนผลสดไปขายมานานหลายปี

ความนิยมบริโภคทุเรียนของจีนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาทุเรียนปรับตัวสูงขึ้น และเกษตรกรไทยหันมาปลูกทุเรียนมากขึ้น โดยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ราคาทุเรียนเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยจาก 33 บาท เป็น 111 บาท/กก. และส่งผลให้พื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว

ตลาดทุเรียนโลกกำลังเปลี่ยนไป

แนวโน้มความต้องการบริโภคทุเรียนของจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจีนเป็นผู้บริโภคหลักที่นำเข้าทุเรียนผลสดสูงถึง 80%ของปริมาณการนำเข้าทั่วโลก และยังมีโอกาสบริโภคเพิ่มขึ้นได้อีกมาก เนื่องจากอัตราการบริโภคทุเรียนต่อคนของจีนยังไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับประเทศผู้บริโภคทุเรียนอื่น ๆ แม้แต่กลุ่มเมืองใหญ่ของจีนที่เป็นผู้บริโภคหลักก็ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้อีกเช่นกัน
นอกจากนี้ การขนส่งในจีนดีขึ้น การพัฒนาระบบขนส่งโลจิสติกส์ของจีนอย่างต่อเนื่อง ทำให้กระจายสินค้าไปยังเมืองรองด้านในและพื้นที่ชุมชนได้มากขึ้น

จีนเปิดใจทุเรียนชาติอื่น
จีนเริ่มเปิดใจกับทุเรียนประเทศอื่น ๆ และสายพันธุ์อื่นมากขึ้น จากเดิมที่บริโภคทุเรียนหมอนทองจากไทยเป็นหลัก โดยเมื่อไม่นานนี้ได้อนุญาตให้เวียดนามและฟิลิปปินส์ส่งทุเรียนผลสดมาขายในจีนได้แล้ว
- เวียดนาม ได้รับใบอนุญาตเป็นประเทศที่ 2 เมื่อ ก.ค. 65 และได้ส่งทุเรียนหมอนทองเข้าไปขายในราคาใกล้เคียงกับไทย ทำให้ได้ส่วนแบ่งการตลาดไปกว่า 5% จากเดิมที่ไม่มีเลย
- ฟิลิปปินส์ ได้รับใบอนุญาตล่าสุดเมื่อ ม.ค. 66 และเริ่มส่งทุเรียนพื้นเมืองพันธุ์ปูยัตเข้าไปให้ชาวจีนได้ลองทานแล้ว
ถึงแม้จีนยังต้องการบริโภคทุกเรียนอีกมาก โดยคาดว่าภายใน 5 ปีนี้ จีนมีโอกาสบริโภคเพิ่มขึ้นอีก 1 กก./คน/ปี  ทำให้ความต้องการทุเรียนเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1 ล้านตัน  แต่การที่จีนได้เริ่มนำเข้าทุเรียนจากประเทศอื่นมากขึ้นแล้ว ทำให้ไทยต้องตระหนักและเตรียมพร้อมการแข่งขัน

หลายประเทศต่อคิวส่งทุเรียนไปจีน
แนวโน้มการแข่งขันในตลาดทุเรียนโลกรุนแรงขึ้น ทั้งจากไทยที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นกว่า 8% ต่อปี และประเทศคู่แข่งที่ขยายพื้นที่ปลูกเพื่อบุกตลาดส่งออกมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดทุเรียนผลสดในจีน ทำให้ขณะนี้มีหลายประเทศเร่งพัฒนาคุณภาพทุเรียนและต่อคิวขอใบอนุญาตส่งออกทุเรียนสดจากจีน เริ่มจาก
1. สปป.ลาว  น่ากังวลในระยะยาว  โดยมีทุนจีนและเวียดนามเริ่มลงทุนปลูกจริงจัง ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นในอีก 5-10 ปีข้างหน้า  และยังเป็นประเทศที่มีระบบขนส่งเร็วกว่าไทยทั้งทางบกและทางรถไฟ
2. มาเลเซีย  น่ากังวลพอสมควร เนื่องจากมีผลผลิตมาก สัดส่วนส่งออกปัจจุบันยังน้อย  เน้นทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง  มีประสบการณ์ส่งมูซานคิงแช่แข็งไปจีน  ระบบขนส่งนานกว่าไทย
3. จีน  เริ่มทดลองปลูกทุเรียนสำเร็จแล้ว แต่ยังไม่น่ากังวล เพราะพื้นที่ปลูกน้อยมาก แนวโน้มผลผลิตยังไม่ถึง 1% ของไทย
4. อินโดนีเซีย  ประเทศที่มีผลผลิตทุเรียนมาก อันดับ 1ของโลกแต่ยังไม่น่ากังวลมาก เพราะเน้นบริโภคเองในประเทศเกือบทั้งหมด ยังต้องใช้เวลาพัฒนาคุณภาพเพื่อส่งออก
5. พิลิปปินส์ แม้จะได้รับอนุญาตให้ส่งทุเรียนเข้าไปขายในจีนได้แล้ว แต่ยังไม่น่ากังวล เพราะพื้นที่เพาะปลูกน้อย แนวโน้มผลผลิตไม่มาก การขนส่งนานกว่าไทย และขนส่งได้ทางเรือและเครื่องบินเท่านั้น ทำให้ควบคุมคุณภาพได้ยาก

เผชิญแรงกดดันด้านราคา
ภายในระยะ 3 ปีนี้ ยังไม่น่ากังวลมาก คาดว่าผลผลิตของคู่แข่งอาจยังเข้าสู่ตลาดจีนไม่มากนัก เนื่องจากต้องใช้เวลาพัฒนาคุณภาพทุเรียน ขึ้นทะเบียนสวนและโรงคัดบรรจุ และทำการตลาดในจีน หากรวมกับผลผลิตของไทยที่จะเพิ่มขึ้น จะเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับแนวโน้มการบริโภคของจีน แต่ราคาอาจถูกกดดันเป็นบางช่วง โดยเฉพาะช่วงที่ผลผลิตไทยและคู่แข่งออกพร้อมกัน
ซึ่งในระยะ5 ปีข้างหน้า น่ากังวลมากขึ้น เมื่อคู่แข่งเริ่มปรับตัวได้ คาดว่าจะมีผลผลิตที่พร้อมส่งออกไปตลาดจีนเพิ่มขึ้นมาก และอาจมากกว่าแนวโน้มการบริโภคของจีน (Oversupply) ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อทั้งการส่งออกและราคาทุเรียนของไทย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทุเรียนไทยกำลังจะเผชิญกับความท้าทายที่มากขึ้นในอนาคต แต่ไทยเองยังมีข้อได้เปรียบคู่แข่งอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องปริมาณผลผลิตที่มีมาก คุณภาพทุเรียนที่เป็นที่ยอมรับ และประสบการณ์ส่งออกไปตลาดจีนที่ยาวนาน ดังนั้น หากทุกฝ่ายร่วมกันพัฒนาทุเรียนไทยอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทำการตลาดในเมืองรองของจีน รวมถึงประเทศอื่น รักษาคุณภาพทุเรียนโดยเฉพาะปัญหาทุเรียนอ่อนช่วงต้นฤดูกาลผลผลิต ส่งเสริมความรู้เรื่องเทคนิคการปลูกทุเรียนเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และบริหารจัดการเส้นทางขนส่งทุเรียนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ก็จะทำให้ไทยสามารถป้องกันตำาแหน่ง “แชมป์ส่งออกทุเรียนอันดับ 1ของโลก” ได้ไม่ยาก