"วิษณุ" ชี้ ก.ก.-พท. โหวตชิงประธานสภาฯ ถือเป็นเรื่องแปลก เพราะอยู่ในรัฐบาลเดียวกัน

"วิษณุ" ชี้ ก.ก.-พท. โหวตชิงประธานสภาฯ ถือเป็นเรื่องแปลก เพราะอยู่ในรัฐบาลเดียวกัน

View icon 140
วันที่ 29 พ.ค. 2566 | 16.13 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
"วิษณุ" ชี้การโหวตเสียงเลือกประธานสภาฯ แม้จะเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมือง แต่หากโหวตชิงโดยพรรคเสียงอันดับ 1 และ 2 ถือเป็นเรื่องแปลก

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาการจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงความไม่ลงตัวผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร (29 พ.ค.66) ว่าตำแหน่งประธานสภาฯ ถือว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นตำแหน่งอันดับ 1 ที่จะเดินหน้าการเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไป และมีอำนาจในการกำหนดวันประชุมสภาฯ ซึ่งการถกเถียงระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ที่ยังไม่ลงตัวในตำแหน่งประธานสภาฯ นายวิษณุ ยอมรับว่า น่าเป็นเพราะมีวาระการเมืองอื่นในเชิงสัญลักษณ์

เมื่อถามว่าพรรคก้าวไกลต้องการตำแหน่งดังกล่าว เพราะต้องการเสนอวาระทางการเมือง โดยเฉพาะการกลั่นกรองกฎหมาย และการแก้มาตรา 112 นายวิษณุ ยอมรับว่า ไม่ว่าใครเป็นประธานสภาฯ หากจะได้รับการพิจารณาในสภาฯ ก็จะปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ มากกว่าเป็นดุลพินิจของประธานสภาฯ รวมถึงจะมาผลักดันนโยบายของพรรคใดก็ได้ ประธานสภาฯ ต้องวางตัวเป็นกลาง

“อย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์ การโหวตเลือกประธานสภาฯ ก็มีการโหวตเลือกที่มีการเสนอชื่อมากกว่า 1 แต่ขณะนี้หากเกิดขึ้นก็ถือเป็นเรื่องแปลก เนื่องจากพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่งและอันดับสอง อยู่ในรัฐบาลเดียวกันจะโหวตแข่งกันเอง แต่ทุกอย่างก็เป็นไปได้ทั้งนั้นในทางการเมือง ซึ่งในอดีตก็มีการโหวตประธานสภาฯ ถึงได้มีชื่อของนายอุทัย พิมพ์ใจชน” นายวิษณุ ระบุ

ผู้สื่อข่าวถามว่าในฐานะที่มีประสบการณ์ทางการเมือง คิดว่าพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ควรจะมีแนวทางอย่างไร ที่จะทำให้ผลออกมาราบรื่นในการจัดตั้งรัฐบาล นายวิษณุ ไม่ขอออกความเห็น เป็นเรื่องของเขา เพราะเขาได้เดินหน้าเซ็นต์ MOU ซึ่งส่วนตัวเตรียมเก็บของแล้ว เพราะนึกว่าตกลงกันทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว

นายวิษณุ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการถือครองหุ้นสื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ระบุว่า เรื่องนี้ขอให้ศาลเป็นคนตัดสิน เพราะในรัฐธรรมนูญเขียนไว้สั้นๆ เท่านั้น ไม่ได้ระบุว่า กี่หุ้นและไม่ได้ระบุขนาดของสื่อ และยังดำเนินการอยู่หรือไม่ แต่หากไปดูคำวินิจฉัยเก่าๆ อาจจะเห็นทิศทางได้เหมือนกัน เพราะศาลเคยตัดสินเรื่องนี้มาหลายคดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีถือหุ้นสื่อของนายพิธาจะต้องรีบทำให้เสร็จ ก่อนเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ หรือจะเป็นเรื่อง ระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับศาลรัฐธรรมนูญ  ต้องชี้ชัด นายวิษณุ ย้ำว่า เป็นเรื่องของ กกต. กับศาล คือ ด่าน 1 คือ กกต. ด่าน 2 คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญต้องไต่สวนฉุกเฉิน หรือให้เป็นไปตามกระบวนการ และเมื่อศาลฯรับเรื่อง ศาลฯ มีสิทธิที่จะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ เช่นเมื่อครั้งนาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ถูกเสนอชื่อเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ก็อยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม เดือนกันยายน แต่การตัดสินออกมาในเดือนพฤศจิกายน ส่วนของนายพิธานั้น จะชัดเจนในช่วงเวลาใด และจะกระทบกับการเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ตอบไม่ถูก เพราะ กกต.ยังไม่ได้ทำอะไรเลย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในวันโหวตนายกรัฐมนตรี หากชื่อของนายพิธาไม่ผ่านในขั้นตอนโหวตรอบแรก นายวิษณุ กล่าวว่า ประธานสภาฯ มีอำนาจนัดเลือกนายกรัฐมนตรีในวันรุ่งขึ้น หรืออีก 7 วันข้างหน้า หรืออีก 15 วันก็ได้ ซึ่งคนที่เป็นประธานสภาจะเป็นผู้ชี้เป็นชี้ตายในเรื่องนี้ แต่หากเลือกแล้วยังไม่สำเร็จจะสามารถพลิกไปได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อยู่ที่พรรคการเมืองที่มี สส.เกิน 25 เสียง เป็นผู้เสนอ ชื่อแคนดิเดตนายกฯรัฐมนตรี แข่งขัน ซึ่งการโหวตในรอบที่ 2 สามารถเสนอชื่อเดิมได้ หรืออาจเปลี่ยนใช้วรรค 2 คือ การเสนอชื่อคนนอก ไปพร้อมกับการเสนอชื่อคนในไปพร้อมกันก็ได้ แต่จะต้องมีเสียงรับรอง ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่า เสนอขื่อคนเดิมได้ตลอด แต่เมื่อถึงรอบ 2,3,4,5 เมื่อมีการเสนอชื่อคนเดิมและคนใหม่เข้ามาแข่งได้