สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประธานเปิดงาน “วันวิสาขบูชานานาชาติปี 2566”

สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประธานเปิดงาน “วันวิสาขบูชานานาชาติปี 2566”

View icon 122
วันที่ 2 มิ.ย. 2566 | 14.33 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประธานเปิดงาน “วันวิสาขบูชานานาชาติปี 2566” ประทานพระสัมโมทนียกถา ตอนหนึ่งว่า ‘พระพุทธศาสนา’ มุ่งเน้นสั่งสอนว่าสิ่งทั้งหลายล้วนมีเหตุปัจจัยในการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปหาใช่เกิดจากการดลบันดาลของอำนาจลี้ลับเหนือธรรมชาติแต่อย่างใด

วันนี้ (2 มิ.ย.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.66 เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทรงเปิดการประชุมวิสาขบูชานานาชาติครั้งที่ ๑๘ เรื่อง “พุทธปัญญากับการรับมือวิกฤตโลก” เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี ๒๕๖๖

การนี้ สังฆนายก ผู้นำชาวพุทธนานาชาติ และผู้นำประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา มีนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา เป็นอาทิ เฝ้าถวายสักการะ และร่วมการประชุม

โอกาสนี้ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระสัมโมทนียกถา ความตอนหนึ่งว่า

“ในนามของคณะสงฆ์ไทย ขอต้อนรับท่านพระเถรานุเถระ ตลอดจนพุทธศาสนิกชนนานาชาติ ที่มาร่วมการประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๖ ในวันนี้ ด้วยความปรารถนาดีอย่างยิ่ง 

‘พระพุทธศาสนา’ เป็นศาสนาอเทวนิยม มุ่งเน้นสั่งสอนว่าสิ่งทั้งหลายล้วนมีเหตุปัจจัยในการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปหาใช่เกิดจากการดลบันดาลของอำนาจลี้ลับเหนือธรรมชาติแต่อย่างใด เพราะฉะนั้น ถ้าท่านพิจารณาถึงอริยสัจสี่ ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ และทรงพระมหากรุณาประทานให้แก่เราทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ได้ศึกษาใคร่ครวญ และน้อมนำไปเป็นวิถีทางแห่งการรับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆ นั้น ย่อมเห็นประจักษ์ได้ว่า ถ้าต้องการไม่ให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สรรพสัตว์ทั้งหลายคงมีทางเลือกสองทาง กล่าวคือ กําจัดเหตุ ๑ และกําจัดเงื่อนไข ๑ เมื่อทําได้ดั่งว่าแล้วทั้งสองประการ ผลที่ไม่พึงปรารถนาก็จะไม่บังเกิดอย่างแน่แท้ อันความตระหนักรู้แจ้งในหลักการเหล่านี้ ย่อมทำให้ไวเนยสัตว์ตื่นรู้ พร้อมความระมัดระวังโดยรอบคอบมากยิ่งขึ้น มีนัยประมวลสรุปรวมหมายถึง ‘ความไม่ประมาท’ ซึ่งเป็นที่สุดแห่งพระบรมพุทโธวาททั้งปวงนั้นเอง

การที่ท่านทั้งหลายมาประชุมกันเพื่อร่วมขบคิดใคร่ครวญในหัวข้อ ‘พุทธปัญญากับการรับมือวิกฤตโลก’ นับเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนา เพราะเสมอด้วยการทำให้พระพุทธศาสนา ปลูกฝังหยั่งรากลงลึกสู่จิตใจของมวลมนุษยชาติ ในฐานะศาสนาแห่งเหตุและผล ที่สมบูรณ์พร้อมทั้งภาคปริยัติ และภาคปฏิบัติ เป็นยอดศาสนา ที่ช่วยเกื้อกูลให้โลกนี้ สามารถก้าวข้ามพ้นวิกฤตการณ์ ไปสู่ภาวะแห่งศานติสุขได้อย่างแท้จริง”