พลิกภัยแล้ง ผุดไอเดียเลี้ยงกบในสวนไผ่

พลิกภัยแล้ง ผุดไอเดียเลี้ยงกบในสวนไผ่

View icon 356
วันที่ 4 มิ.ย. 2566 | 10.56 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
พลิกภัยแล้ง ผุดไอเดียเลี้ยงกบในสวนไผ่ สร้างรายได้เสริมจากปลูกข้าว

วันนี้ (4 มิ.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบันลือ พรมพะเนา อายุ 55 ปี ผู้ใหญ่บ้านหนองระเวียง หมู่ที่ 12 ต.หนองระเวียง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่นาจำนวน 10 ไร่ ซึ่งประสบกับปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ให้เป็นพื้นที่ไร่นาสวนผสม โดยขุดร่องน้ำ ปลูกพืชนานาชนิด เช่น ข้าว มะม่วง มะพร้าวน้ำหอม และแบ่งพื้นที่ 2 ไร่ ทำเป็นป่าไผ่ที่ร่มรื่น

โดยใต้สวนไผ่นี้ ได้ทำคอกวัว เลี้ยงวัวจำนวน 12 ตัว และทำเล้าไก่ เลี้ยงไก่พื้นเมืองมากกว่า 50 ตัว สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร และขายวัว ขายไก่ เก็บหน่อไม้ขาย สร้างรายได้ให้ครอบครัวตลอดทั้งปี จนกลายเป็นพื้นที่เรียนรู้การเกษตรประจำ  ที่จะมีชาวบ้านในพื้นที่มาเรียนรู้ไม่ขาดสาย

นายบันลือ เล่าว่า ตนเองไปศึกษาวิธีเลี้ยงกบแบบธรรมชาติ จากสำนักงานประมงอำเภอเมืองนครราชสีมา ก่อนที่จะซื้อพ่อ แม่พันธุ์กบ “บลูฟร๊อก” มาจากแหล่งเพาะพันธุ์ที่ประมงอำเภอแนะนำ จำนวน 100 ตัว ในราคา กก.ละ 70 บาท โดยแบ่งเป็น พ่อพันธุ์ 50 ตัว แม่พันธุ์ 50 ตัว แล้วนำมาปล่อยที่สวนไผ่ ซึ่งตนเองได้ทำการขุดร่องน้ำไว้ 2 ร่อง ขนาดความกว้าง 1 ม. ลึก 50 ซม. และมีพื้นที่บกให้กบได้ขึ้นมาอาศัยข้างละ 1 เมตร แล้วนำผ้ามุ้งมากั้นไว้ เพื่อกันกบกระโดดหนี รวมทั้งป้องกันงูลงมากินกบอีกด้วย โดยแยกกบตัวผู้ กับกบตัวเมียออกไว้คนละร่อง และให้อาหารเม็ดกบ 2 เวลา เช้า-เย็น ซึ่งอาหารกบราคาไม่แพง ถุงปุ๋ยละประมาณ 400 บาท ใช้ได้นานถึง 6 เดือน

ทั้งนี้ตนเองสนใจนำกบมาเลี้ยง เพราะเห็นว่าตลาดมีความต้องการมาก กบถือว่าเป็นอาหารป่าที่หารับประทานได้ยาก มีเท่าไหร่ก็ขายหมด ดังนั้นจึงถือว่าน่าสนใจมาก โดยตอนนี้ตนเองได้ทำการผสมพันธุ์กบจนได้ลูกอ๊อดมากกว่า 1 แสนตัว ซึ่งได้นำไปไว้ที่บ่อพักเลี้ยงอนุบาล เพื่อรอให้ครบ 45 วัน หลังจากนั้นจะนำไปปล่อยที่ร่องน้ำแห่งใหม่ ที่ตนเองเตรียมขุดไว้แล้ว เพื่อเพาะเลี้ยงให้โตเต็มที่ รวมระยะเวลาตั้งแต่เป็นลูกอ๊อดจนโตเต็มที่ เป็นเวลา 4 เดือน ก็พร้อมที่จะจับไปขายได้

ซึ่งกบที่ตัวโตเต็มวัย 1 กก.จะประมาณ 3 ตัว โดยจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อในราคา กก.ละ 70 บาท แต่ละรุ่นถ้ารอดได้สักประมาณ 60,000-70,000 ตัว ก็ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็พร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้นี้ให้กับชาวบ้าน เพื่อใช้ทำเป็นอาชีพเสริมรายได้จากการปลูกพืชได้เป็นอย่างมาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง