ปล่อยปลาดุก 4 ตัน ลงแม่น้ำ โซเชียลดรามาได้บุญ หรือ บาป

ปล่อยปลาดุก 4 ตัน ลงแม่น้ำ โซเชียลดรามาได้บุญ หรือ บาป

View icon 1.8K
วันที่ 4 มิ.ย. 2566 | 18.22 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ปล่อยปลาดุก 4 ตัน ลงแม่น้ำ โซเชียลดรามาได้บุญ หรือ บาป เพราะปลาดุกเป็นเอเลี่ยนทำลายระบบนิเวศน์ ด้านผู้ประสานงานของพิธี เผย ปลาที่นำมาปล่อยเป็นเจ้าภาพเตรียมมาเอง

ภาพการปล่อยปลาดุก 4 ตัน ลงแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณใต้สะพานพุทธยอดฟ้า เมื่อวันวิสาขบูชา ที่จัดขึ้นโดย วัดพิชยญาติการามวรวิหาร กำลังเป็นที่วิพากวิจารณ์กันมากในโซเชียล ว่า เป็นการทำลายระบบนิเวศน์ของปลาท้องถิ่น เนื่องจาก ปลาดุก ถือเป็นปลาเอเลี่ยน ที่ทำลายระบบนิเวศน์

หลายคนบอกว่า เห็นแล้วเศร้าใจมาก และสงสารปลาเล็กปลาน้อย ที่อยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะจะถูกไล่กินหนีตาย ขณะที่บางคน เสนอทางแก้ไขว่า ควรรีบจับปลาดุกในแม่น้ำเจ้าพระยา ออกให้มากที่สุด เพื่อลดโอกาสทำปลาท้องถิ่น ปลาเล็กปลาน้อยสูญพันธุ์ จากระบบนิเวศน์

ล่าสุด พระครูศรีปริยัติธำรงค์ ผู้ประสานงานของพิธี ให้ข้อมูลว่า กิจกรรมดังกล่าวโยมที่เป็นเจ้าภาพ ได้นิมนต์พระจากวัดเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ เพื่อไปสวดมนต์ทำพิธี ให้พรเท่านั้น ส่วนปลาที่นำมาปล่อยเป็นของเจ้าภาพ เตรียมมาเอง

ข้อมูลจากกรมประมง ระบุว่า สายพันธุ์สัตว์น้ำที่ไม่ควรปล่อยลงแม่น้ำ มีทั้ง ปลาดุกอัฟริกัน ปลาดุกลูกผสม (บิ๊กอุย), กุ้งเครย์ฟิช, เต่าญี่ปุ่น หรือ เต่าแก้มแดง, ปลาหางนกยูง, ปลากดเกราะดำ ปลากดเกราะลาย, ตะพาบไต้หวัน, ปลาทับทิม, ปลานิล, ปลาหมอสีคางดำ เพราะถือเป็นสัตว์ต่างถิ่น หรือ เอเลี่ยน สปีชีส์ ซึ่งจะเข้าไปคุกคามสัตว์น้ำพื้นเมืองของไทย ทำให้มีจำนวนลดลง ถึงขั้นสูญหาย

ส่วน ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศน้ำจืด ก็เคยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงผลกระทบของ “ปลาดุก” ต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำ เมื่อปี 2564 ว่า การปล่อยปลาดุก 1 ตัน เราจะสูญเสียสัตว์น้ำท้องถิ่นไปประมาณ 1.8 ล้านชีวิตต่อปี ในจำนวนนี้อาจจะเป็นลูกปลาเศรษฐกิจ ที่ถ้าปล่อยให้โตไปก็จะเป็นอาหารของชาวบ้านได้อีก