สธ.ยอมรับแพทย์ไม่พอ ทำงานหนัก 64 ชม. ต่อสัปดาห์

View icon 46
วันที่ 7 มิ.ย. 2566 | 06.37 น.
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - จากปมแพทย์อินเทิร์นแห่ยื่นจดหมายลาออก จนนำมาสู่การแฉปัญหาวงการการแพทย์ของไทย ซึ่งขณะนี้ทำงานหนักมาก เรื่องนี้จึงร้อนไปยังกระทรวงสาธารณสุข ต้องออกมาชี้แจง ยอมรับว่าแพทย์ไม่เพียงพอ แพทย์ 1 คน ต้องทำงานหลายอย่างและทำงานเกินเวลาด้วย

จากกรณีแพทย์อินเทิร์น หรือแพทย์จบใหม่ แห่พากันลาออก โดยเหตุผลที่ตัดสินใจเนื่องจากภาระงานในระบบหนักหน่วงมากเกินไป เช่นกรณีของ ปุยเมฆ แพทย์หญิงนภสร วีระยุทธวิไล ซึ่งเธอเป็นทั้งนักร้องนักแสดง และเป็นแพทย์อินเทิร์น ได้ออกมาโพสต์ระบายความในใจ พร้อมแจ้งว่าตนเองก็ได้ลาออกเช่นกัน จนกลายเป็นข่าวที่ผ่านมา

ล่าสุด นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ออกมาชี้แจงประเด็นดังกล้าว เปิดเผยว่า ขณะนี้แพทย์ในประเทศไทยมีอยู่ราว 50,000-60,000 คน แต่อยู่ในระบบกระทรวสาธารณสุขหรือ ระบบสาธารณสุขราว 24,000 คน คิดเป็น 48 เปอร์เซ็นต์ของแพทย์ทั้งหมด

ซึ่งภาระงานของแพทย์เหล่านี้ ต้องดูแลคนในระบบหลักประกันสุขภาพถึง 45 ล้านคน คิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยทั้งประเทศ

พบว่า เฉลี่ยแพทย์ 1 คน ต้องดูแลคนถึง 2,000 คน ซึ่งตามปกติค่ามาตรฐานโลกกำหนดไว้ว่า แพทย์ 3 คน ต้องดูแลคนแค่ 1,000 คน เท่านั้น

นอกจากนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขยังสุ่มสำรวจโรงพยาบาลในระบบ 117 โรงพยาบาล พบว่ากว่า 65 โรงพยาบาล มีการทำงานเกินเวลา ต่ำสุดทำงานเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สูงสุดที่ 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานโลกที่กำหนดให้ทำงานต่ำกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อยู่มากไปหลายเท่า

โดยจากข้อมูลการลาออกของแพทย์ ปี 2556-2565 10 ปีย้อนหลัง พบว่า ถือว่ายังน้อย เพราะต้องอยู่ให้ครบตามที่แพทยสภากำหนด ถึงจะสามารถเรียนต่อเฉพาะทางได้ พบว่าตัวเลขลาออกรวมแพทย์อินเทิร์นใช้ทุน 3 ปี และหลังพ้นภาระใช้ทุน รวมถึงแพทย์ที่เกษียณจากระบบสาธารณสุข ตกประมาณปีละ 655 คน ย้ำว่าตัวเลขที่ออกมาเป็นความคลาดเคลื่อน เพราะส่วนนี้คือตัวและในระบบสาธารณสุข ไม่ใช้โควตาของมหาวิทยาลัยที่ลาออกจากระบบ

จากปัญหาที่เกิดขึ้น รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า แพทย์ไม่เพียงพอต่อการทำงานจริง และยังทำงานเกินเวลาด้วย ซึ่งเรื่องนี้ ทางกระทรวงฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด และตามภาพรวมที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ซึ่งกำกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะผลิตแพทย์ให้ได้ปีละ 3,000 คน หรืออีก 10 ปีนี้ จะมีบุคลากรแพทย์เพิ่มประมาณ 30,000 คน ส่วนทางสาธารณสุขเองก็จะผลิตแพทย์เพิ่ม 1 ใน 3 ของบุคลากรหรือประมาณ 10,000 คน

ดังนั้น งานของทางสาธารณสุข ไม่ใช่แค่ใช้เเรงงานแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องร่วมผลิตแพทย์อีกด้วย ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นคือเมื่อทางสาธารณสุขร้องขอแพทย์ไป แต่ก็ได้แพทย์มาไม่ตรงตามที่ร้องขอ นอกจากนี้ คือต้องจัดสรรแพทย์ให้กับทางกระทรวงกลาโหมอีกด้วย

ส่วนการเพิ่มค่าตอบแทนให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ ตอนนี้ปัญหาดีขึ้นมากกว่าเดิม แต่ยอมรับว่า ปัญหาหลักด้านภาระงานที่แพทย์ต้องรับนั้น คงแก้ไขได้ยาก จากจำนวนแพทย์ที่มีอยู่แค่ 20,000 กว่าคน