กระแสหมอลาออก กำลังใจจาก ปชช. อ่านแล้วใจฟู

กระแสหมอลาออก กำลังใจจาก ปชช. อ่านแล้วใจฟู

View icon 307
วันที่ 8 มิ.ย. 2566 | 08.05 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
กระแสหมอลาออก กำลังใจจาก ปชช. อ่านแล้วใจฟู เพจเรื่องเล่าหมอชายแดน สะท้อนความเห็น "เรียนหมอ โตมาเป็นหมอ" หน้าที่ของหมอยิ่งใหญ่จริงๆ แพทย์ต้องธำรงไว้ซึ่งจริยธรรมและหน้าที่ความรับผิดชอบ ถ้าระบบจะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ดีขึ้น ก็ถือเป็นรางวัล

หมอลาออก เพจเรื่องเล่าหมอชายแดน สะท้อนความเห็นในมุมมองแพทย์ว่า ตอนนี้เข้าไปอ่านทุกเพจที่นำเสนอเรื่องหมอทำงานหนักเกินไป มีการเรียกร้องให้เห็นใจหมอ  ทุกๆความเห็นของประชาชน และคนไข้ที่เราได้อ่านมันทำให้ใจฟูจริงๆ ตอนนี้หมอคนไหนรู้สึกท้อแท้จากการงาน รู้สึกเครียด เบื่อหน่าย หมอเบียร์แนะนำให้ลองเข้าไปอ่าน เหมือนเป็นลมเย็นๆพัดมาให้ใจสบายจริงๆ

“เรียนหมอ โตมาเป็นหมอ ทำใจไว้แล้วว่าต้องเจอกับอะไรบ้าง หน้าที่ความรับผิดชอบมากมายที่ต้องดูแลชีวิตของคนไข้ทุกคน ดูแลแบบองค์รวมทุกมิติถึงตอนกลับบ้าน ดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย ต้องอดทนอดกลั้นแค่ไหน บางครั้งก็ไปทำงานไกลๆ ไกลจากบ้านและครอบครัว ต้องอดทนกับความหิว เหนื่อย ง่วง บางครั้งก็โดนด่าโดนว่าจากคนไข้และญาติและตอบโต้ไม่ได้ ส่วนตัวไม่เคยคิดว่าเป็นการเสียสละและไม่เคยทวงบุญคุณจากใคร คิดว่ามันเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่พึงทำในขณะที่ประกอบวิชาชีพ”

สมัยหนึ่งแพทย์เปรียบเหมือนสมมติเทพ ผู้ป่วยและญาตินับถือราวกับเทวดา ต่อมาเวลาเปลี่ยน แพทย์กลายมาเป็นเพียงผู้ให้บริการผู้ป่วยดีลกันเหมือนธุรกิจ ไม่พอใจก็ฟ้องร้องกันเหมือนยุคก่อนโควิด พอโควิดมาแพทย์ก็กลับมาเป็นฮีโรอีกครั้ง หลังโควิดก็กลับไปเป็นผู้ให้บริการใหม่ ถึงวันนี้สถานการณ์กำลังจะเปลี่ยนอีกแล้ว เรามาดูกันว่ามันจะไปหยุดที่จุดไหน

มีคนถามว่าอดทนในระบบราชการยังไงได้ตั้งเกือบ 20 ปี และยังทำงานหนักตลอด ตอบเลยว่าที่นี่คือ safe zone เพราะเพื่อนร่วมงาน ลักษณะงานดี รู้สึกปลอดภัย ได้ทำโครงการต่างๆ เพื่อคนไข้หมู่มาก ได้ทำตาม passion ที่ตั้งใจไว้คือ โตมาจะต้องทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นตามวิถีของเรา ตามความถนัดของเรา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบราชการต้องปรับให้ทันยุคทันสมัย เช่น ค่าแรง สวัสดิการต่างๆ และระบบการทำงาน ต้องเป็นการปรับจูนสองทาง แพทย์ก็ต้องธำรงไว้ซึ่งจริยธรรมอันดีของแพทย์และหน้าที่ความรับผิดชอบ อะไรที่ไม่ดีเป็นปัญหากับระบบการดูแลคนไข้ เช่น มาทำงานสาย ว่างงานแฝง ใช้น้องหมอทำงานแทน วินิจฉัยช้ารักษาช้า ไม่ดูแลคนไข้ ก็ต้องปรับแพทย์ควรออกมาช่วยกันทำระบบให้ดีขึ้น โดยเป็นคนที่อยู่ในระบบไม่ใช่อยู่ฝั่งตรงข้าม

หมอเบียร์จากเพจเรื่องเล่าหมอชายแดนระบุด้วยว่า จะให้ผู้บริหารประเทศหรือระบบเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งนี้ แพทย์ทุกคนในระบบก็ควรเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงตัวเองและมาช่วยกัน นี่คือความคิดเห็นส่วนตัว สำหรับภาพที่นำมาประกอบในโพสต์นี้ แอบถ่ายพี่หมอสูติ รูปนี้ตอนผ่าตัดคลอดเคสโควิด วินาทีนั้นรู้สึกว่าหน้าที่หมอคนหนึ่งมันยิ่งใหญ่จริงๆ กว่างานแต่ละงานจะสำเร็จต้องทุ่มเทมากๆ หมอที่รู้จักส่วนใหญ่ทุ่มเทกับงานถ้าระบบจะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ดีขึ้น ก็ถือเป็นรางวัล