เช้านี้ที่หมอชิต - ไม่ว่าจะเป็นหมู่เลือดไหน เลือดของแต่ละคน ก็ล้วนมีความสำคัญต่อผู้ป่วย วันนี้ มาชวนคุณผู้ชม รู้ที่มาที่ไปของการบริจาคเลือด และร่วมบริจาคเลือดเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย
ทุกวันที่ 14 มิถุนายนของทุกปี ถือว่าเป็นวันผู้บริจาคโลหิตโลก เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2547 โดยยึดเอาวันเกิดของ ดร.คาร์ล แลนด์สไตเนอร์ (Karl Landsteiner) แพทย์ชาวออสเตรีย-อเมริกัน ซึ่งก็คือวันที่ 14 มิถุนายน 1868 หรือปี พ.ศ.2411 เป็นวันผู้บริจาคโลหิตโลก
ดร.คาร์ล แลนด์สไตเนอร์ เป็นผู้ประสบความสำเร็จในการจำแนกหมู่โลหิต A, B และ O นับเป็นการค้นพบที่มีความสำคัญต่องานบริการโลหิตทั่วโลก ทั้งยังค้นพบว่า การถ่ายเลือดให้กับผู้ที่มีหมู่เลือดเดียวกันไม่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดถูกทำลาย จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการต่อยอดในวงการแพทย์มาจนถึงทุกวันนี้ สามารถช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ได้จำนวนมาก
ด้วยเหตุดังนี้ องค์การอนามัยโลก สหพันธ์สภากาชาด และสภาเสี้ยววงเดือนแดง ระหว่างประเทศ จึงขอความร่วมมือให้สภากาชาดทั่วโลก จัดกิจกรรมเพื่อเป็นการขอบคุณผู้บริจาคโลหิตทั่วโลก และส่งเสริมงานบริการโลหิตให้เป็นที่แพร่หลาย
สำหรับประเทศไทย ในปีนี้ สภากาชาดไทย ชวนผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง บริจาคโลหิตช่วยชีวิตผู้ป่วย ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 12 และจะสิ้นสุดในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ ภายใต้สโลแกน "Give blood, give plasma, share life, share often - ให้โลหิต ให้ชีวิตประจำ" เพื่อสร้างความตระหนักถึงการบริจาคโลหิต ให้มีปริมาณเพียงพอ ปลอดภัยสำหรับรักษาผู้ป่วย และเป็นการบริจาคอย่างยั่งยืน พร้อมรับเสื้อยืดวันผู้บริจาคโลหิตโลก 2566 แทนคำขอบคุณ
ท่านที่สนใจร่วมบริจาคโลหิต ไปบริจาคได้ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ หน่วยรับบริจาคโลหิตประจำที่โรงพยาบาล สาขาบริการโลหิตแห่งชาติ 8 แห่ง ในเขตกรุงเทพมหานคร และภาคบริการโลหิตแห่งชาติ ทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ
ปิดท้ายด้วยคำเชิญชวนของสภากาชาดไทย ที่ชวนคนไทยร่วมบริจาคโลหิต ด้วยประโยคที่ว่า "ชวนคุณมาร่วมพิสูจน์หายาวิเศษที่ซ่อนอยู่ในร่างกาย"