WHO หนุนไทย ห้ามนำเข้า-ขายบุหรี่ไฟฟ้า ป้องกันเยาวชนได้ดีที่สุด ข้อมูลสถิติคนไทยตายจากการสูบบุหรี่ปีละ 6 หมื่นคน ค่าใช้จ่ายรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่มากกว่า 8 หมื่นล้าน "หมอประกิต" อยากให้รัฐบาลใหม่ คงกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า
วันนี้ (16 มิ.ย.66) ที่กระทรวงสาธารณสุข ดร.เอเดรียนา บลังโก มาร์กิโซ หัวหน้าสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสรุปผลการประเมินความจำเป็น การดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกของไทย
ดร.เอเดรียนา เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลก ขอสนับสนุนให้รัฐบาลใหม่ของไทยคงมาตรการห้ามนำเข้าและขายบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใหม่ทุกชนิด ควรรักษากฎหมายนี้ต่อไป และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับประเทศที่มีรายได้ปานกลางอย่างไทย และควรเร่งรณรงค์พิษภัยของการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าในระบบการศึกษา นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญถึงการป้องกันการแทรกแซงโดยอุตสาหกรรมยาสูบตามแนวปฏิบัติข้อ 5.3 ของกรอบอนุสัญญาฯ ทั้งในกลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการที่มีหน้าที่ในการกำหนดและปฏิบัติตามนโยบายเพื่อการควบคุมยาสูบ
ดร.เอเดรียนา กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการทางภาษีไทยควรวางแผนภาษียาเส้นระยะยาว และปรับโครงสร้างฐานภาษีให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและคำนึงถึงด้านสุขภาพเป็นสำคัญตามแนวปฏิบัติข้อที่ 6 มาตรการราคาและภาษีของ FCTC ขณะนี้ไทยจัดเก็บภาษียาเส้นในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับบุหรี่ซิกาแรต ยาเส้นที่มีปริมาณการผลิตไม่เกิน 12,000 กิโลกรัมต่อปี เก็บภาษี 0.025 บาทต่อกรัม ส่วนยาเส้นที่มีปริมาณการผลิตเกิน 12,000 กรัมต่อปี เก็บภาษี 0.10 บาทต่อกรัม ทำให้ราคาขายปลีกยาเส้นต่อซองต่ำกว่าบุหรี่ซิกาแรต 5-6 เท่า โดยให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงการคลัง จัดทำอัตราภาษีใหม่ที่เหมาะสมกับและสอดคล้องกับการเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากยาสูบ”
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกเคยประเมินสมรรถนะการควบคุมยาสูบของประเทศไทยเมื่อปี 2551 มีข้อเสนอให้ไทย 1.ขึ้นภาษีบุหรี่ซิกาแรตตามการเปลี่ยนแปลงของค่าครองชีพ 2.ขึ้นภาษียาเส้นมวนเองให้สูงขึ้น 3.ปรับกฎหมายให้ห้ามสูบบุหรี่ในทุกพื้นที่สาธารณะ 4.จัดบริการให้คำปรึกษาเพื่อเลิกบุหรี่ในระบบบริการปฐมภูมิ 5.กำหนดแผนควบคุมยาสูบแห่งชาติ โดยเพิ่มความเข้มแข็งของการควบคุมยาสูบทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 6.สร้างบุคลากรควบคุมยาสูบรุ่นใหม่ 7.เพิ่มการรณรงค์พิษภัยยาสูบผ่านสื่อหลัก ซึ่งไทยก็ได้ดำเนินการตามข้อแนะนำหลัก ๆ เช่น การมีแผนควบคุมยาสูบแห่งชาติ การกำหนดในกฎหมายให้มีคณะกรรมการควบคุมยาสูบจังหวัด แต่ยังมีบางเรื่องที่ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เช่น แผนการขึ้นภาษียาเส้นมวนเอง
ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า ข้อมูลล่าสุดมีประเทศห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 32 ประเทศเมื่อ 2 ปีก่อน เพิ่มเป็น 37 ประเทศ และอีก 2 เขตปกครองพิเศษ ประเทศที่เพิ่มขึ้นคือ นอร์เวย์ สปป.ลาว มอริเชียส วานูวาตู ปาเลา กาบูเวร์ดี และเขตปกครองพิเศษ ฮ่องกง และไต้หวัน แนวโน้มคือประเทศต่าง ๆ ทยอยออกกฎหมายห้ามขายและห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เพื่อป้องกันวัยรุ่นจากการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า ทำได้ง่ายกว่าการเปิดให้ขายได้ถูกกฎหมาย จึงอยากขอให้รัฐบาลใหม่คงกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าของไทยไว้ บังคับใช้กฎหมายห้ามขายอย่างเข้มงวด ซึ่งจะป้องกันเด็กและเยาวชนจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้ดีกว่า
ทั้งนี้ การสำรวจล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 ชายไทยอายุมากกว่า 15 ปี ยังสูบบุหรี่สูงถึง 34.7% และผู้หญิง 1.3% ขณะที่คนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ปีละ 62,343 คน ตามข้อมูลจากการวิจัยของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และเสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง 9,434 คนต่อปี ตามรายงานของสถาบันเพื่อการวัดและประเมินผลด้านสุขภาพ มหาวิทยาลัยวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา รวมถึงค่าใช้จ่ายรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่มากกว่า 8 หมื่นล้านบาท ในปี 2562 และหากรวมความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากการเจ็บป่วยที่ขาดรายได้และเสียชีวิตก่อนเวลาจะสูงถึงมากกว่า 2 แสนล้านบาท