ปลาตายเกลื่อนหาด วันนี้ (22 มิ.ย.66) จ.ชุมพร เกิดปรากฏการณ์แพลงตอนบูม ปลาตายน้ำแดง ปลาตายเกลื่อนหาดทุ่งวัวแล่น โดยผู้ใช้เฟซบุ๊ก Kantaphong thakoonjiranon ได้แชร์ภาพปลาตายเกลื่อนหาดทุ่งวัวแล่น จ.ชุมพร พร้อมระบุว่าเป็นปรากฏการณ์ ปลาตายน้ำแดง ตั้งแต่อยู่ทะเลมาปีนี้เยอะที่สุด
ต่อมา ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นถึงปรากฎการณ์ดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่าเป็นปรากฏการณ์ปกติ คนแถวนั้นเรียก “น้ำแดง” (เป็นชื่อเฉพาะ) มักเกิดตอนต้นฤดูฝน เมื่อน้ำจืดลงทะเลเป็นจำนวนมาก พาธาตุอาหารลงทะเล สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนรวดร็ว เกิดแพลงก์ตอนบลูม
ดร.ธรณ์ ระบุด้วยว่า สัปดาห์ก่อนคณะประมงไปสำรวจทะเลชุมพร บริเวณเรือปราบ จึงมีภาพและข้อมูลมาให้ดู โดยภาพแรกคือ่าวทุ่งวัวแล่น น้ำตื้น เห็นน้ำสีเขียว เกิดปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม ทำให้ปลาขาดออกซิเจนพร้อมกันจำนวนมาก โดยน้ำที่ตื้นและร้อน ปลาหน้าพื้นทะเลบางส่วนจึงตาย ก่อนโดนพัดขึ้นมาบนหาด และภาพที่ 2 เป็นภาพที่ห่างฝั่ง บริเวณเรือปราบ น้ำแบ่งเป็น 2 ชั้น น้ำใสอยู่ด้านบน แต่เรือปราบอยู่ลึกลงไปในทะเลประมาณ 24 เมตร ปลาจึงพออยู่ได้ แม้อาจมีปลาน้อยกว่าปกติเนื่องจากน้ำร้อน
กรณีที่ทุ่งวัวแล่น ตามข่าวบอกว่า ปีนี้ปลาตายเยอะกว่าปีก่อนๆ เกี่ยวกับโลกร้อนหรือไม่ คำตอบคืออาจเกี่ยวบ้าง เช่น น้ำร้อนทำให้ปลาตายง่ายขึ้น ฝนตกเยอะน้ำจืดลงทะเลเยอะ ฯลฯ แต่ผลกระทบจากโลกร้อนต้องศึกษาให้ถี่ถ้วน ด้วยข้อมูลตอนนี้ คงบอกว่าเมื่อโลกร้อนขึ้น “อาจ” ส่งผลกระทบต่อแพลงก์ตอนบลูมและปลาตาย