สนามข่าว 7 สี - เมื่อวานนี้เรียกว่า ที่ กกต.คึกคักเลย ได้ต้อนรับสมาชิกวุฒิสภาสองคน และยังมีคุณสันธนะ ประยูรรัตน์ ก็ไปด้วยโดยทั้งหมดมีเป้าหมายเหมือนกัน คือ กล่าวโทษพรรคก้าวไกล ส่วนเป็นประเด็นอะไรไปติดตาม
2 สว. หอบหลักฐาน หุ้นสื่อฯ พิธา ให้ ประธาน กกต.
เริ่มกันที่ 2 สว.ตัวตึงของสภาสูง อย่างคุณเสรี สุวรรณภานนท์ และคณะกิตติศักดิ์ รัตนวาหะ ประธาน และรองประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ไปพบคุณอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.พร้อมคณะ มอบหลักฐานการถือครองหุ้นสื่อของคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกล สำหรับหลักฐานเอกสารมีสองส่วนจากการตรวจสอบของกรรมาธิการฯ และจากคุณนพรุจ วรชิตกุล อดีตแกนนำพิราบขาว 2006 ที่นำไปมอบให้กรรมาธิการฯ โดยมีการขอความร่วมมือให้ กกต.เร่งตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ก่อนที่จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
ด้านท่านประธาน กกต. ก็บอกหลัง 2 สว.มอบหลักฐานเรื่องการถือครองหุ้นสื่อฯให้แล้ว ก็จะมอบให้คุณแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามหลักการปฏิบัติงานทันที
ส่วนข่าวที่ว่า กกต.ส่งหนังสือเชิญให้คุณพิธาเข้ามาชี้แจงนั้น เรื่องนี้ประธาน กกต.บอกน่าจะเป็นหนังสือเชิญที่ออกโดย คณะกรรมการสืบสวนไต่สวนฯ เพราะขณะนี้เรื่องอยู่ในความรับผิดชอบของคณะสมการไต่สวนชุดดังกล่าวฯ ที่จะมีอำนาจและหน้าที่ในการเชิญบุคคลมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสาร
สันธนะ แค้น ชูวิทย์ ลามเอาผิด ก้าวไกล
ความเคลื่อนไหวของคุณสันธนะ ประยูรรัตน์ สมาชิกพรรคก้าวไกล ไปให้ถ้อยคำกับ กกต. เพื่อเอาผิด คุณพิธาและพรรคก้าวไกลทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง จากกรณีปล่อยให้คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรค หรือผู้ช่วยหาเสียงของพรรคเข้ามาทำร้ายร่างกายตนเอง ซึ่งเป็นสมาชิกพรรค และให้คุณชูวิทย์ ร่วมเวทีปราศรัยหาเสียงโจมตีพรรคการเมืองอื่น ซึ่งอาจเป็นเหตุทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม ขัดมาตรา 22 พ.ร.ป.ว่า ด้วยพรรคการเมือง ก็เรียกว่า ความแค้นที่มีต่อคุณชูวิทย์ ไปปรากฏผลกับคุณพิธา
ส่วนคุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ไม่ได้เดินทางไป กกต.แต่ใช้วิธีส่งหนังสือทางไปรษณีย์ หลัง กกต.ส่งหนังสือแจ้งว่า ไม่รับคำร้องยุบพรรคก้าวไกล ฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม 2566 แต่เมื่อตรวจสอบกลับไม่พบการยื่นคำร้องดังกล่าวในสารบบของตัวเอง เพราะคำร้องที่ถูกตีตกไป ก็มีแค่เรื่องนโยบายยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งดุลพินิจของ กกต.ดังกล่าว ก็สวนทางกับที่ศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบความคืบหน้ากรณีเดียวกันกับอัยการสูงสุด