กทม. แจงประกาศ นร.แต่งไพรเวตสัปดาห์ละ 1 วัน เพื่อไม่ให้คลุมเครือ

กทม. แจงประกาศ นร.แต่งไพรเวตสัปดาห์ละ 1 วัน เพื่อไม่ให้คลุมเครือ

View icon 158
วันที่ 30 มิ.ย. 2566 | 16.00 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
รองฯ ศานนท์ ชี้แจงประกาศอนุญาต นร.โรงเรียนในสังกัด กทม. แต่งไพรเวตสัปดาห์ละ 1 วัน ไม่ให้คลุมเครือว่าต้องผ้าไทยเท่านั้น ยอมรับสวมชุดส่วนตัวอาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ แต่เป็นการจำลองโลกภายนอกให้เด็กเข้าใจและยอมรับความจริง

ความคืบหน้าหลังกรุงเทพมหานครออกประกาศ เรื่อง อนุญาตให้นักเรียนโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้ง 437 แห่ง สามารถแต่งชุดส่วนตัว หรือชุดไพรเวต มาโรงเรียนได้สัปดาห์ละ 1 วัน รวมถึง นักเรียนสามารถกำหนดทรงผมของตนเองได้ภายใต้สุขอานามัย และการเคารพสิทธิเสรีภาพจิตใจและร่างกายของนักเรียนนั้น

วันนี้ (30 มิ.ย.66) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. แถลงข่าวชี้แจงว่า ใจความสำคัญของประกาศดังกล่าว มี 3 ประเด็น คือ สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชน การลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง และการมีส่วนร่วมของนักเรียนในการกำหนดเรื่องทรงผมและการแต่งกาย

นายศานนท์ กล่าวว่า เรื่องทรงผม ต้องทำให้นักเรียนอยู่บนพื้นฐานของสุขอนามัยที่ดี ความสะอาด ส่งเสริมบุคลิกภาพและความมั่นใจ สถานศึกษาต้องทำให้รู้สึกว่า โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย การทำให้เขาอับอายไม่ควรเกิดขึ้นในโรงเรียน เช่น การตัดผมทำให้อับอาย ส่วนเรื่องการแต่งกายอ้างอิงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งโรงเรียนในสังกัด กทม.ผ่อนปรนใช้อยู่แล้ว เช่น วันศุกร์ไม่ได้ใส่ชุดนักเรียนโดยให้แต่งชุดไพรเวตที่ผ่านการตกลงร่วมกัน เช่น ชุดผ้าไทย ประกาศดังกล่าวออกมาเพื่อแก้ไขความคลุมเครือ ว่าชุดไพรเวต คือ ต้องผ้าไทยเท่านั้นหรือไม่ เนื่องจาก กทม.มีหลายเขต บางพื้นที่การแต่งกายต้องยึดโยงกับศาสนา ในเชิงรายละเอียดแต่ละโรงเรียนจึงแตกต่างกันออกไป บางโรงเรียนจะทำเป็นบอร์ดให้เด็กลงคะแนนคล้ายการเลือกตั้ง

“การกำหนดให้แต่งชุดส่วนตัวอย่างน้อย 1 วัน เป็นการเปิดกว้างให้มีการเริ่มต้นทดลองแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อศึกษาข้อดีข้อเสียที่เกิดขึ้น ไม่ต้องการพลิกแผ่นดินทันที แต่ต้องการให้ค่อยๆ ขยับ เรื่องนี้เป็นเรื่องของยุคสมัย ถ้าไม่เอามาคุยกันบนโต๊ะจะไม่สามารถเดินต่อไปได้ ท้ายที่สุด เรื่องการแต่งชุดส่วนตัวในโรงเรียนอาจมีความเหลื่อมล้ำแตกต่างเกิดขึ้น โดยเฉพาะการเปรียบเทียบในหมู่นักเรียนเอง แต่เชื่อว่าการเปรียบเทียบเป็นธรรมดาของโลก และเชื่อว่าแนวทางของ กทม.เป็นการจำลองโลกภายนอกให้เด็กเข้าใจและยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น ส่วนข้อดีคือ เด็กได้ค้นพบความชอบ ความเหมาะสมในการแต่งกายของตัวเอง โดยมีครูและโรงเรียนเป็นผู้ดูแลแนะนำ ก่อนก้าวไปสู่โลกภายนอก”