ห้องข่าวภาคเที่ยง - กรุงเทพมหานคร ใช้เวลาประเมิน โครงสร้างสะพานยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง พังถล่ม ต้องวางแผนรื้อซากคอนกรีตอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย
เป็นวันที่ 2 ของการเปิดใช้เส้นทางบนถนนหลวงแพ่งขาเข้า และขาออก ฝั่งละ 1 ช่องทาง เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา การจราจรเคลื่อนตัวได้ตามปกติ บริเวณจุดเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ได้นำสังกะสีมาปิดไว้ ป้องกันเศษวัสดุ เศษคอนกรีตตกหล่น และปรับปรุงพื้นผิวการจราจร โดยลาดยางมะตอย และตีเส้นการจราจรใหม่ ให้รถวิ่งผ่านได้สะดวดขึ้น
เบื้องต้น ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง แจ้งว่า ภาพรวมการรื้อถอนซากเหล็ก ซากคอนกรีต คืบหน้าไปแล้วกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือต้องรอผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมมาประเมิน เศษซากแต่ละชิ้นก่อนเคลื่อนย้าย ไม่สามารถรื้อถอนเองได้ เพราะอาจเกิดเหตุถล่มซ้ำ
ความคืบหน้าในการเคลื่อนย้านเศษซากต่าง ๆ ที่ยังทำไม่ได้ทันที เป็นเพราะต้องรอการประเมินชิ้นส่วนแต่ละซาก โดย รองศาสตราจารย์ วัชรินทร์ กาสลัก นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท. กล่าวว่า เศษชิ้นส่วนเล็ก ๆ สามารถนำออกจากพื้นที่ได้ทันที แต่หากเป็นแท่นคอนกรีตขนาดใหญ่ มีลาดยึด ต้องศึกษาน้ำหนัก และปริมาณอย่างรอบคอบ ต้องดูจุดตัด จุดเชื่อม จะตัดทิ้ง เคลื่อนย้าย โดยพลการไม่ได้
ขณะที่ รองศาสตราจารย์ วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การเคลื่อนย้ายเศษซากขนาดใหญ่ ต้องกระทบต่อการจราจรให้น้อยที่สุด มิเช่นนั้น ประชาชนที่ใช้เส้นทาง จะได้รับความเดือดร้อน อีกทั้ง หากนำเครื่องจักรใหญ่ เข้าไปเคลื่อนย้ายเศษซากปูนทันที โดยขาดการวางแผน อาจเกิดอันตรายซ้ำ 2
เบื้องต้น ผู้รับเหมาได้ส่งแบบการเคลื่อนย้าย ให้ กทม. และ วศท. แล้ว แต่ทาง วศท. ได้เสนอปรับแผนการเคลื่อนย้ายใหม่ ขอให้ผู้รับเหมาแก้แบบการเคลื่อนย้ายที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น เพื่อความปลอดภัยแก่ทุกฝ่าย