คอลัมน์หมายเลข 7 : คน VS ระบบ เปิดช่องครู ยักยอกเงินออมนักเรียน?

View icon 165
วันที่ 26 ก.ค. 2566 | 20.16 น.
ข่าวภาคค่ำ
แชร์
ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 ขยายผลตรวจสอบ ครูโรงเรียนประถมแห่งหนึ่ง ในจังหวัดอุบลราชธานี แอบนำเงินออม กว่า 700,000 บาท ของนักเรียนทั้งโรงเรียนไปปล่อยเงินกู้กินดอกเบี้ย เหตุนี้ทำได้เพียงคนเดียว หรือ มีการทำเป็นขบวนการ ติดตามกับ คุณสุธาทิพย์ ผาสุข

เสียงความทุกข์จากผู้ปกครองและนักเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่ง จังหวัดอุบลราชธานี ที่สะท้อนผ่านตัวแทน ถึงปัญหาการไม่ได้รับเงินออมที่พวกเขาต้องได้รับเมื่อเรียนจบชั้น ป.6 กลับกลายเป็นความหวังที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจนเหมือนกับที่เด็ก ๆ ปฏิบัติ คือ การเลือกจะเก็บเงินที่ผู้ปกครองให้ไว้ใช้จ่ายไว้ โดยไม่กินขนม ไม่ซื้อของที่ชอบ ไปฝากไว้ในมือครูที่ไว้ใจทุก ๆ วัน

1 ในผู้ปกครอง เล่าว่า ความไม่ชอบมาพากลการบริหารเงินในโครงการกิจกรรมออมทรัพย์ เกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนผู้อำนวยการโรงเรียน เมื่อปี 2562

และสมุดบันทึกการฝากเงินที่เคยเห็นประจำ ก็แทบจะไม่เคยเห็น หากขอตรวจสอบหนำซ้ำยังมารู้ทีหลังว่า มีการนำเงินออมของนักเรียนไปใช้ปล่อยกู้กินดอกเบี้ย โดยอ้างว่า จะนำเงินปันผลคืนสู่เด็กนักเรียน แต่สุดท้ายกลับมีแค่ครูหนึ่งคนออกมายอมรับผิด แก้ปัญหาในยอดเงินที่หายจากกองทุนฯ ไปกว่า 700,000 บาท

ทีมข่าวตรวจสอบเพิ่มกับหนึ่งในทีมตรวจสอบข้อเท็จจริง พบข้อมูลยิ่งตอกย้ำว่า โครงการออมเงินฯ นี้ มีความบิดเบี้ยว เพราะเมื่อกางรายชื่อคณะกรรมการสถานศึกษา จะพบว่า มีผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นกรรมการและเลขานุการ เพิ่มจากหมวกด้านบริหาร แต่กลับปล่อยให้มีข้อผิดพลาดจาก ครู ที่ทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมเงินออมจากครูประจำชั้นนักเรียนตั้งแต่ ป.1 - ป.6 จนสุดท้ายก็กระทบความตั้งใจฝึกนิสัยการออมของนักเรียน

แม้ผลสอบสวนขั้นต้นจะชี้ให้เห็นว่า การบริหารงานมีปัญหา แต่ผู้ปกครองก็ยังคงแคลงใจ เมื่อการเอาผิดครูจะเกิดขึ้นหลังจากครูคนนี้นำเงินมาคืนอีกทั้งผู้อำนวยการ ยังขอย้ายพ้นโรงเรียน จึงทำให้ความหวังจะได้เงินคืนที่เคยตกลงกัน 3 ฝ่าย โดยมีเขตพื้นที่การศึกษาฯ เป็นตัวกลาง ให้ครูผ่อนชำระเงินคืนยิ่งดูริบหรี่ ต้องหันพึ่งอำนาจปกครองถึงหน้าที่ว่าการอำเภอตระการพืชผล

ในสัปดาห์หน้ายังต้องติดตามผลการแก้ปัญหาครูนำเงินนักเรียนไปปล่อยกู้กินดอกเบี้ย ซึ่งไม่ว่าผลประโยชน์จะเพื่อส่วนตน เพราะโดดออกมาแสดงความรับผิดชอบเพียงคนเดียว หรือ เพื่อส่วนรวมที่มีเป้าไปถึงนักเรียน ตามที่มีข้อมูลจากผู้ปกครอง ชี้ว่า กองทุนฯ นี้ มีหลักบริหารเพิ่มดอกผลด้วยการปล่อยกู้เงิน

แต่เมื่อมีปัญหาการคืนเงินสู่มือเจ้าของ ก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่สะท้อนกลับไปว่า ถึงเวลาแล้วหรือไม่ว่าการบริหารกองทุนฯ ที่มีเพียงแค่คณะกรรมการในโรงเรียนอาจไม่เพียงพอ และต้นสังกัดอย่าง สพฐ. ก็ควรมีมาตรการตรวจสอบ เพื่อให้เจตนารมย์ส่งเสริมการออมตั้งแต่วัยเรียนคงอยู่และเกิดขึ้นได้จริง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง