สุดขอบฟ้า รถไฟไทยทำ สุดหรูหราโดยวัสดุไทย สจล.-บพข. เตรียมส่งมอบให้ รฟท. กันยายนนี้
เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2566 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดผลงานพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ (รถไฟไทยทำ) ในชื่อรถไฟ “สุดขอบฟ้า (Beyond Horizon)” โมเดลรถไฟโดยสารต้นแบบสุดหรูหรา ที่ออกแบบและผลิตโดยคนไทย ใช้วัสดุและอุตสาหกรรมภายในประเทศในการประกอบตู้รถไฟชนิด Luxury Class และ Super-Luxury ที่หรูหราและทันสมัยที่สุดในภูมิภาค ภายใต้การสนับสนุนทุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟระยะกลางในแนวเส้นทางรถไฟรางคู่ระยะ 200-500 กิโลเมตร และรถไฟท่องเที่ยวในแนวเส้นทางของ รฟท. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับสายการบินชั้นประหยัดและรถยนต์ส่วนบุคคล
รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณะบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. หัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยถึงจุดเด่นของรถไฟว่า โครงการนี้มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาและรวบรวมเทคโนโลยีพื้นฐานที่มีอยู่ภายในประเทศเป็นหลัก ร่วมกับการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตชิ้นส่วนที่อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยตั้งเป้าต้องดำเนินการโดยใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศได้ไม่น้อยกว่า 40% ซึ่งโครงการนี้เราสามารถสร้างรถไฟโดยสารต้นแบบพร้อมอุปกรณ์ที่มี วัตถุดิบในประเทศ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของมูลค่าสินค้ากรณีรวมแคร่รถไฟ และหากคิดเฉพาะตู้รถโดยสารพร้อมอุปกรณ์ประกอบไม่รวมแคร่รถไฟจะมี วัตถุดิบในประเทศ สูงกว่า 70% ซึ่งเราได้ออกแบบตัวรถเองทั้งหมดโดยได้แรงบันดาลใจจากที่นั่งในเครื่องบินชั้นธุรกิจ และชั้นเฟิร์สคลาสในรถไฟความเร็วสูง ในตัวต้นแบบนี้ ทำที่นั่งจำนวน 25 ที่ ประกอบด้วยชั้น Super Luxury 8 ที่นั่ง และชั้น Luxury 17 ที่นั่ง ทุกที่นั่งมีจอภาพส่วนตัวสำหรับให้บริการด้านความบันเทิงและสั่งอาหาร ซึ่งจะมีพนักงานเสิร์ฟหุ่นยนต์นำอาหารมาส่งถึงที่นั่ง นอกจากนี้ยังมีระบบห้องน้ำสุญญากาศและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งทางขึ้นรถไฟ ที่ได้รับการออกแบบเพื่อรองรับการใช้งานของผู้พิการ โดยราคาค่าโดยสารนั้นคาดว่าจะใกล้เคียงกับตั๋วแบบนอนของ รฟท.
โดยการพัฒนาต้นแบบในครั้งนี้ ได้รับทุนสนับสนุนจาก บพข. และบริษัทเอกชน ซึ่งผลงานที่ออกมานั้นมีความคุ้มค่ากว่าการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังพัฒนาตัวรถให้มีน้ำหนักที่เบาลง จากการออกแบบด้วยระบบ Space Frame Modular Concept และแคร่รถไฟที่ทำความเร็วได้ถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งจดทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากโครงการแล้วจำนวนกว่า 7 ผลงาน และโครงการนี้ ยังมีผู้ประกอบการที่สามารถผลิตและประกอบชิ้นส่วนในประเทศมากกว่า 10 บริษัทเข้าร่วมโครงการ จึงเป็นการช่วยสร้างระบบนิเวศน์อุตสาหกรรมการผลิตรถขนส่งทางรางและสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมระบบรางตลอดห่วงโซ่การผลิต
ขณะนี้รถไฟต้นแบบอยู่ในขั้นตอนของการทดสอบบนทางรถไฟจริงสำหรับการให้บริการ หากผ่านการทดสอบตรงนี้แล้วก็จะสามารถนำไปใช้จริงได้ ทีมวิจัยคาดว่าจะสามารถส่งมอบรถไฟต้นแบบนี้ให้กับ รฟท. เพื่อนำไปใช้ในกิจการได้ประมาณเดือนกันยายนนี้ ในส่วนของแผนการเดินรถในอนาคตตจะมีการทำแผนการจัดจำนวนที่นั่งและการจัดรูปแบบ เพื่อให้เหมาะสมกับผู้โดยสาร โดยจะนำไปลองกับผู้โดยสารระยะกลางก่อน เนื่องจากตัวรถไฟที่ออกแบบมาจะเป็นกึ่งรถนอนที่มีที่นั่งสบาย ๆ ซึ่งจะสอดคล้องกับรางคู่ระยะกลางที่มีระยะทางประมาณ 500 กม. โดย รฟท. ต้องการทำรถไฟให้สามารถแข่งขันกับสายการบิน รวมถึงผู้ใช้รถยนต์บุคคลได้ เพื่อดึงผู้โดยสารกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ที่อาจไม่เคยใช้บริการรถไฟมาก่อน ได้หันมาใช้บริการรถไฟของ รฟท. เพื่อสร้างรายได้ให้กับ รฟท. เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นก็สามารถนำรายได้นั้นไปพัฒนารถไฟชั้น 3 หรือตู้โดยสารแบบอื่น ๆ มาให้บริการประชาชนได้มากขึ้น