ผู้ป่วยจิตเวชมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ปลัด สธ. เปิดหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด รพ.สมุทรปราการ เพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพจิตอย่างครบวงจร สถิติปี 65 งานบำบัดยาเสพติด มีผู้ป่วย 253 คน สูงสุด 3 ลำดับแรก สุรา ยาบ้า กัญชา
วันนี้ (3 ส.ค. 66) ที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลสมุทรปราการ จำนวน 16 เตียง พร้อม กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป จัดบริการเฉพาะด้านผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดเพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจะก่อความรุนแรง มีภาวะเร่งด่วนฉุกเฉินหรือมีโรคร่วมและมีภาวะแทรกซ้อนทางกาย เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบ
โรงพยาบาลสมุทรปราการได้เปิดหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด จำนวน 16 เตียง มีจิตแพทย์และพยาบาลวิชาชีพให้การดูแล รองรับผู้ป่วยในพื้นที่และรับส่งต่อจากโรงพยาบาลชุมชนเป็นเครือข่าย ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงบริการสุขภาพจิตที่ครบวงจร ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ช่วยให้สามารถกลับคืนสู่ชุมชนและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขได้จัดบริการหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติด ในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ครอบคลุมแล้วทุกจังหวัด และโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต รวม 5,617 แห่ง รวมถึงจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชนแล้ว 439 แห่ง ในส่วนของโรงพยาบาลสมุทรปราการ ข้อมูลจากคลินิกจิตเวชและยาเสพติด พบว่า ในปี 2565 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกจำนวน 22,481 คน ส่วนใหญ่จากอาการ โรคจิต ซึมเศร้า วิตกกังวล ในจำนวนนี้ เป็นผู้ป่วยที่ได้รับส่งต่อ 292 คน เป็นผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉิน 24 คน ให้การดูแลผู้ป่วยในเฉลี่ย 18 คน/วัน ส่วนงานบำบัดยาเสพติด มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ 253 คน สูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ สุรา ยาบ้า และกัญชา