ปักหมุดของดีทั่วไทย : ทุเรียนกวนตำบลบูกิต อัตลักษณ์พื้นบ้าน สู่วิสาหกิจชุมชนสร้างชื่อ จ.นราธิวาส

View icon 178
วันที่ 9 ส.ค. 2566 | 07.16 น.
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - ช่วงนี้ทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังออกสู่ตลาด ทำให้ชาวบ้านในตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เร่งเก็บทุเรียนพันธุ์พื้นบ้านมาขาย และส่งแปรรูปเป็นทุเรียนกวนกันทั่วตำบล ซึ่งผลทุเรียนที่นี้ มีเนื้อทุเรียนกวนที่เป็นเอกลักษณ์ หอม รสชาติอร่อย จนมียอดขายเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ ติดตามจากคุณอรรถพล ดวงจินดา 

วันนี้ ปักหมุดของดีทั่วไทย พาคุณผู้ชมเข้าป่า ไปดูการเก็บผลทุเรียน ที่ขึ้นชื่อว่า เป็น "ราชาแห่งผลไม้" ซึ่งเป็นทุเรียนพันธุ์พื้นบ้าน ที่ชาวบ้านในตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส นิยมนำมาเป็นวัตถุดิบ ในการแปรรูปเป็นทุเรียนกวนส่งขาย จนสร้างชื่อเสียงให้ชุมชน ช่วยสร้างเงิน สร้างอาชีพและรายได้ ให้คนในพื้นที่มาแล้วรุ่นต่อรุ่น อีกทั้งเป็นสินค้าที่หลายคนนั้นชื่นชอบ จนมียอดสั่งซื้อ ส่งขายกันแทบไม่ทันกันเลย

แต่ต้องบอกก่อนว่า การปลูกทุเรียนพันธุ์พื้นบ้านที่นี่ ปลูกกันบนเขาสูง ตรงแนวเทือกเขาตะเว การเล่นเดินขึ้นเก็บทุเรียน ได้ยินเสียหายใจดัง ๆ กันเลย เมื่อมาถึง จะเห็นว่า ต้นทุเรียนแต่ละต้น สูงใหญ่ อย่างกับต้นไม้ป่า ชนิดที่ว่าสูงแข่งกันเลยก็ว่าได้ แต่ด้วยความแข็งแรง ต้นสมบูรณ์ ประกอบกับดิน อากาศ และน้ำดี ทำให้ทุเรียนที่นี้ออกมามาก และที่สำคัญทุเรียนมีเนื้อเยอะ และมีรสชาติอร่อยนั่นเอง

ชาวบ้าน เล่าว่า ทุเรียนที่มีมากในช่วงนี้ จึงต้องมีการถนอมอาหาร ด้วยการนำไปกวน ทำให้ทุก ๆ เช้า ชาวบ้านจะเข้าไปเก็บทุเรียนที่หล่นใต้โคนต้น บ้างนำไปแปรรูป บ้างก็ส่งขายให้กลุ่มที่รับซื้อทุเรียน จนสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านในชุมชน เฉลี่ยต่อเดือนไม่น้อยกว่า 27,000 - 40,000 บาทต่อครอบครัวกันเลย

ปัจจุบันการถนอมอาหาร ด้วยการกวนทุเรียนของชาวบ้านที่นี่ มีการพัฒนาจากครัวเรือน ขยายไปสู่วิสาหกิจชุมชนแล้วในหลายกลุ่ม ยิ่งช่วยสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน อีกทั้งในชุมชนเอง มีพ่อค้าคนกลางรับซื้อทุเรียน ชนิดที่ว่าไม่ต้องนำไปไหนไกล และที่สำคัญมีการรับซื้อจำนวนมาก เพราะทุเรียนกวน มียอดสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

แต่นั่นแหละ ทุเรียนกวนแม้จะเป็นการถนอมอาหารมาจากผลทุเรียนสุกแล้ว แต่มันก็มีระยะเวลาเก็บรักษาได้ที่จำกัด อยู่ที่ประมาณ 1 เดือน ทำให้คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทำการวิจัย ทั้งการเก็บทุเรียนจากสวน ไปถึงสิ้นสุดกระบวนการกวนทุเรียน ที่ต้องการจะช่วยยืดระยะเวลาเก็บรักษา ถนอมอายุทุเรียนกวนให้นานขึ้น ที่จะช่วยสร้างรายได้ที่หมุนเวียนให้ชาวบ้านเพิ่มมากขึ้น

ด้วยเอกลักษณ์ของทุเรียนกวนจังหวัดนราธิวาส จากทุเรียนพันธุ์พื้นบ้าน แม้เนื้อไม่มาก แต่มีความหวานและมัน พร้อมกลิ่นที่หอมละมุน สำหรับคนที่ชื่นชอบทุเรียน ยิ่งในช่วงนี้ ผลทุเรียนออกสู่ตลาดมาก การถนอมทุเรียนด้วยการกวน จึงเป็นสิ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่จะทำกันแทบทุกบ้าน ขณะที่การนำทุเรียนมาแปรรูป สร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านในชุมชนตำบลบูกิตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 30 - 40 ปี กันเลย