เวลา 14.32 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังคิว สเตเดียม ชั้นเอ็ม ศูนย์การค้าดิเอ็มควอเธียร์ ทรงเปิดตัวหนังสือ "แนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ 4" ในการนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย ซึ่งกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 สิงหาคม 2566 เพื่อรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับผ้าไทยในมิติต่าง ๆ ที่เป็นสากล มาพัฒนาต่อยอดมรดกภูมิปัญญาผ้าไทย ในการเสริมสร้างและเผยแพร่ภาพลักษณ์ที่มีความทันสมัยให้แก่วงการผ้าไทย เป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้ง ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจและเพิ่มพูนทักษะความรู้ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการผ้าไทยในทุกระดับ โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มีพระดำริเรื่องเทรนด์สีประจำฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว ปี 2023-2024 แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย "เทรนด์ SUBTLE STRENGTH : สงบเงียบ เฉียบคม" นำเสนอกระแสโลกาภิวัฒน์ใหม่ ที่ว่าด้วยเรื่องแบบแผนและไลฟ์สไตล์ของชาวเมืองที่มีรสนิยมและการใช้ชีวิตที่ชัดเจน, "เทรนด์ LUMINOUS MIND : สุขใส เรืองรอง" นำเสนอแนวคิดของจักระภายในร่างกายที่ถ่ายทอดผ่านเฉดสีที่มองไม่เห็น สู่แนวคิดการจับคู่สีแบบนามธรรมผ่านจินตนาการ สะท้อนถึงการค้นหาความสงบสุขและตัวตนภายในจิตวิญญาณ, "เทรนด์ SPORT HERO : กราวกีฬา" ที่มีแรงบันดาลใจจากกีฬาโอลิมปิก ซึ่งนักกีฬาทุกคนเปรียบเสมือนวีรบุรุษของคนทั้งชาติ ต่อสู้เพื่อฝันแห่งชัยชนะ และเป็นการสะท้อนไลฟ์สไตล์อันเร่งรีบของคนรุ่นใหม่ที่มีเส้นชัยเป็นของตัวเอง และ "เทรนด์ THE GREAT EXPLORER : การค้นพบอันยิ่งใหญ่" นำเสนอความมหัศจรรย์ที่ไม่สิ้นสุดของธรรมชาติ ที่ควรค่าแก่การศึกษาและทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น
จากนั้น พระราชทานหนังสือ "แนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ 4" แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม, ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย, อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม, อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหาร โดยเนื้อหามีแนวคิด เรื่อง "ความงดงามแห่งความหลากหลาย" โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ที่มีวัฒนธรรมและเทคนิคการสร้างสรรค์ผืนผ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งวัฒนธรรมย่อยทั้งหลาย คือ ต้นทุนทางภูมิปัญญาที่สามารถนำไปใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อพัฒนาและต่อยอดให้กับการสร้างสรรค์ผืนผ้าและผลิตภัณฑ์ได้อย่างหลากหลาย เป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต
โอกาสนี้ ทรงร่วมเสวนาวิชาการ "การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2566" ร่วมกับ นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหาร นิตยสารโว้ก ประเทศไทย และนายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิต และนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เข้าร่วมฯ โดยมีพระดำรัสถึงวัสดุ รายละเอียด และเทรนด์สีประจำกลุ่ม ได้แก่ กราวกีฬา กลุ่มสี ใช้เฉดสีที่สดใส เพื่อสื่อถึงความสนุกสนานและการเคลื่อนไหว เช่น สีฟ้าจุนสี สีดอกบวบ สีเขียวปีกนกแก้ว สีแดงตัด สีช้างเผือก, การค้นพบอันยิ่งใหญ่ ใช้กลุ่มเฉดสีที่อิงกับวัตถุที่จักรวาลสร้างสรรค์ เช่น สีทองแดง สีปรอท สีดีบุก, สงบเงียบเฉียบคม กลุ่มสีโทนนุ่มนวล เริ่มแปรเปลี่ยนสีกลุ่มสีเข้ม เช่น สีเปียกปูน สีน้ำเงินทะเลลึก สีชอกโกแลต ซับให้สีที่อ่อนกว่า เช่น สีเทานกพิราบ สีทราย สีกะทิ ส่วนสุขใส เรืองรอง ใช้กลุ่มสีโทนร้อน เช่น สีอาทิตย์อัสดง สีเพลิงแสด สีมุกสุก และสีม่วงกล้วยไม้แคทลียา นอกจากนี้ พระราชทานคำแนะนำให้ระวังเรื่องการใช้สี ซึ่งนอกจากสี จะใกล้เคียงในกลุ่มสีของกลุ่มตัวเองแล้ว ยังเป็นสีที่ใกล้เคียงกับกลุ่มสีของเทรนด์สีในเล่มอื่น ๆ ด้วย