วิโรจน์ โวยเรื่องใหญ่ ลักไก่เปลี่ยนหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากจ่ายถ้วนหน้า ต่อไปต้องพิสูจน์ความจน อ้างอิงจากฐานข้อมูลบัตรคนจน ทำให้ 6 ล้านคนอาจถูกรัฐลอยแพ
กระทรวงมหาดไทย ออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา และให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 โดยสาระสำคัญ ของระเบียบฉบับนี้ มีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาโพสตฺเกี่ยวกับ หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ว่า นี่คือ เรื่องใหญ่ ลักไก่เปลี่ยนหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากเดิมจ่ายแบบถ้วนหน้า ตั้งแต่ 12 สิงหา ต้องมาพิสูจน์ความจน
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบกับสิทธิของประชาชนอย่างร้ายแรงมาก เพราะรัฐบาลรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลักไก่ กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 เสียใหม่ แต่เดิมการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะเป็นการจ่ายแบบถ้วนหน้า ผู้สูงอายุทุกคนได้รับ 600-1,000 บาทต่อเดือน อายุ 60-69 ปี ได้ 600 บาทต่อเดือน 70-79 ปี ได้ 700 80-89 ได้ 800 90 ปีขึ้นไป ได้ 1,000 แต่ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 66 เป็นต้นไป ตามข้อที่ 6 (4) ผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ เท่านั้นถึงจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
นายวิโรจน์ ระบุอีกว่า แม้ว่าในบทเฉพาะกาล ข้อที่ 17 จะระบุว่า ผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียน และรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก่อนวันที่ 12 ส.ค. 66 ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป แต่หลักเกณฑ์นี้ จะส่งผลกระทบกับสิทธิของประชาชนทุกคน ที่จะทยอยอายุครบ 60 ปี ในอนาคต นอกจากนี้ประชาชนที่จะมีอายุครบ 70 ปี 80 ปี 90 ปี ที่ต้องได้รับการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ ก็มีคำถามต่อว่า จะได้รับการปรับเพิ่มหรือไม่
นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่แต่เดิมพอจะมีรายได้จุนเจือตนเองบ้าง ซึ่งตามหลักเกณฑ์ใหม่จะไม่ได้รับเบี้ยยังชีพ หากในเวลาต่อมา รายได้ที่เคยดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ เกิดหดหายไป ผู้สูงอายุคนนั้นจะไปติดต่อขอรับเบี้ยยังชีพได้ที่ไหนอย่างไร
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ (60+ ปี) อยู่ 11 ล้านคน ทราบข่าวมาว่า จะมีการใช้ฐานข้อมูลบัตรคนจน ในการพิจารณาจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้มีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพเพียงแค่ 5 ล้านคนเท่านั้น โดยผู้สูงอายุอีก 6 ล้านคน จะถูกรัฐลอยแพ
ที่สำคัญ คือ เราก็รู้อยู่แล้วว่าฐานข้อมูลของบัตรคนจน นั้นมีความมั่วอยู่พอสมควร มีคนจนถึง 46% ที่ไม่ได้รับบัตร ในขณะที่ 78% ของคนที่ถือบัตร เป็นคนที่ไม่ยากจนแต่อยากจน ข้อมูลตกหล่นมากมายแบบนี้ แล้วจะเอามาใช้เป็นเกณฑ์ในการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้อย่างไร
นอกจากนี้ ในมาตรา 11 (11) ของพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ได้กำหนดเอาไว้ว่า การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุจะต้องจ่ายเป็นรายเดือน โดยต้องจ่ายให้ทั่วถึง และเป็นธรรม ซึ่งก็มีประเด็นว่า การบังคับให้ผู้สูงอายุต้องพิสูจน์ความจน นั้นอาจเป็นการกีดกันประชาชนไม่ให้ได้รับสวัสดิการจากรัฐ ซึ่งขัดกับ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนหลักเกณฑ์ฉบับนี้ได้
การปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุในครั้งนี้ ถือเป็นการลักไก่ของรัฐบาลรักษาการ ที่แย่มากๆ เป็นการวางยาทิ้งทวน ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งโดยปกติวิสัยของรัฐบาลรักษาการ นั้นไม่ควรทำ ซึ่งประชาชนคงต้องจับตาดูต่อไป ว่ารัฐบาลที่กำลังจะเข้ามารับไม้ต่อ จะจัดการอย่างไรกับหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับนี้
ชาวเน็ตได้เข้ามาแสดงความคิดเห็น ว่า รัฐควรผลักดันเรื่องบำนาญชราภาพ,สวัสดิการผู้สูงอายุที่ควรจัดสรรให้เพิ่มขึ้น กลับสร้างเงื่อนไขให้ทุกอย่างยากขึ้นไปอีก เงินส่วนนี้ผู้สูงอายุทุกคนควรได้อย่างเท่าเทียม ไม่ควรมีใครในประเทศนี้ ต้องพิสูจน์ความจนอีกแล้ว, เสียภาษีถ้วนหน้าแต่สวัสดิการต้องพิสูจน์อะไรอีก
อย่างไรก็ตาม ในมุมของกระทรวงการคลัง ที่เสนอเรื่องให้ออกระเบียบใหม่ มองว่า มีความจำเป็นที่ต้องปรับเกณฑ์คุณสมบัติ ด้วยการไม่จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีรายได้สูง หรือที่ร่ำรวย เพื่อประหยัดงบประมาณแผ่นดิน เพราะที่ผ่านมา มีสถิติการจ่ายเงินเพิ่มขึ้นทุกปี จากอดีตราวปีละ 5-6 พันล้านบาท ปัจจุบันใช้งบประมาณปีละกว่า 6 หมื่นล้าน และในปีงบประมาณ 2567 ตั้งงบประมาณไว้เพิ่มเป็น 90,000 ล้านบาท