คลังยันไม่มีนโยบายปรับขึ้นภาษี VAT จาก 7% เป็น 10%

View icon 79
วันที่ 28 ส.ค. 2566 | 06.16 น.
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - สร้างความตกอกตกใจกันไปไม่น้อย เมื่อมีข่าวว่า กระทรวงการคลัง จะปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT จาก 7% เป็น 10% เพื่อนำรายได้เพิ่มไปดูแลสวัสดิการผู้สูงอายุ แต่อยากให้ทุกคนสบายใจได้ ล่าสุด กระทรวงการคลัง ออกมาชี้แจงแล้วว่า ไม่มีนโยบายนี้แต่อย่างใด

แต่จะว่าเรื่องนี้ไม่มีมูลเสียทีเดียวก็คงไม่ใช่ ที่ผ่านมาข่าวในลักษณะนี้มีมาแล้วหลายครั้ง ทำให้ภาครัฐก็ออกมาปฏิเสธกันแทบทุกปี สำหรับครั้งนี้ ต้นทางมาจากความเห็นของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ที่แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์โครงสร้างประชากรของไทย ที่เข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ โดยที่รายได้ของผู้สูงอายุกว่า 1 ใน 3 ยังต่ำกว่าเส้นความยากจนเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ จึงทำให้มีข้อเสนอผ่านไปยังคณะกรรมการปฏิรูปสังคมว่า แนวทางที่ดี คือ การปรับเพิ่ม VAT จาก 7% เป็น 10% โดยส่วนที่ปรับขึ้น 3% รัฐอาจออกกฎหมายเฉพาะให้ส่วนนี้มาเป็นเงินออมของประชาชนเพื่อใช้วัยเกษียณ

แน่นอนว่าเมื่อมีกระแสแบบนี้ออกมา ก็เกิดกระแสดรามาขึ้นในสังคมทันที เช่น เต้ มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ โพสต์ข้อความ ระบุว่า "เศรษฐา คิดดี ๆ อย่าสิ้นคิด จะเพิ่มภาษี vat จาก 7% เป็น 10% จะรีดเลือดกับประชาชน(ปู)อีก"

ขณะที่ เฟซบุ๊กของกลุ่มเยาวชนปลดแอก แสดงจุดยืนค้านแนวคิดนี้อย่างชัดเจน ใจความโดยสรุปว่า "VAT คือภาษีที่สร้างความเหลื่อมล้ำ" คือ การพยายามขูดรีดคนรากหญ้า แทนที่จะเป็นการลดงบกองทัพ หรืองบที่ไม่ได้มีความจำเป็นแก่การพัฒนาประเทศ เพื่อนำมาสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับคนทุกวัย 

VAT คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าหรือบริการ โดยอัตราภาษีจะขึ้นอยู่กับมูลค่าของสินค้าหรือบริการนั้น สาเหตุที่ VAT ถูกวิจารณ์ว่าเป็นภาษีที่ไม่เป็นธรรม เพราะ "ผู้ที่มีรายได้ต่ำจะต้องจ่ายภาษีในอัตราสูงเท่ากับผู้ที่มีรายได้สูง" ทำให้หากมีการขึ้นภาษี VAT ไปมากกว่าเดิม จะทำให้ผู้ที่มีรายได้ต่ำได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ เราจึงสามารถเรียกได้ว่า VAT คือ "ภาษีแห่งความเหลื่อมล้ำ"

หากยกกรณีตัวอย่าง คุณซื้อสินค้าหนึ่งในราคา 40 บาท หาก VAT เป็น 10% คุณจะเสียอีก 4 บาท จากอัตราปัจจุบันที่ 7% คุณจะจ่ายอีกประมาณ 2.8 บาท ความต่างในด้านเงินจำนวนนี้ ดู ๆ แล้วอาจไม่เยอะมาก แต่หากนึกถึงคนจนที่มีรายได้น้อยมาก ๆ หากสิ่งของหลายรายการนั่นก็อาจเป็นเงินหลายบาทสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ในวันหนึ่ง เขาอาจหาเงินได้ไม่กี่บาท

"การเก็บภาษีขั้นบันได" คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากผู้มีรายได้โดยอ้างอิงตามช่วงของรายได้นั้น ๆ ผู้ที่มีรายได้ต่ำจะต้องจ่ายภาษีในอัตราต่ำ และผู้ที่มีรายได้สูงจะต้องจ่ายภาษีในอัตราสูง ทำให้เป็นกลไกหนึ่งที่สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม หากขึ้น VAT เป็น 10% จะเกิดอะไรบ้าง ลองคิดตาม กราฟิกนี้

- ราคาสินค้าและบริการจะถูกบวกเพิ่ม ประชาชนต้องซื้อสินค้าราคาสูงขึ้นอีก 3% จากราคาปัจจุบัน

- ผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบมากกว่าคนรวย จากภาระที่สูงขึ้นทันที ซึ่งสินค้าหลายชนิดเป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพ เลี่ยงซื้อไม่ได้

- ผู้รายได้น้อย ทางเลือกน้อยกว่า เพราะไม่สามารถซื้อของคราวละมาก ๆ ต้องซื้อในราคาสินค้าปลีกที่แพงกว่า แต่คนรวยสามารถเลือกซื้อของในราคาส่งได้

- ค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ไม่เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยิ่งไม่เป็นผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้ออกมายืนยันว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลัง ยังไม่มีนโยบายการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามแนวคิดดังกล่าวแต่อย่างใด

ขอบคุณภาพจาก : Facebook FB มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ และ กระทรวงการคลัง  Ministry of Finance

ข่าวที่เกี่ยวข้อง