ไม่ด่วนสรุป สายพันธุ์ BA.2.86 ที่พบในน้ำเสีย กทม. เป็นเชื้อโควิด

ไม่ด่วนสรุป สายพันธุ์ BA.2.86 ที่พบในน้ำเสีย กทม. เป็นเชื้อโควิด

View icon 194
วันที่ 30 ส.ค. 2566 | 13.04 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
สธ.ไม่ด่วนสรุปข้อมูลสายพันธุ์ BA.2.86 ในน้ำเสียกรุงเทพฯ เป็นเชื้อโควิด  ส่วนสายพันธุ์ EG.5  เริ่มแพร่ในไทยมากขึ้น คาดมาแทนที่ โอมิครอน XBB.1.16  ส่วน XK.3 เจอในไทยแค่ 2 ราย ยังไม่มีข้อมูลยืนยันได้ว่า แพร่เร็วและรุนแรงกว่าเดิม ขอเวลาดูข้อมูล 2 สัปดาห์  

วันนี้ (30 ส.ค.66)  นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  แถลงข่าวสถานการณ์โควิดในไทย ว่า ขณะนี้โควิดในไทยยังเป็นโอมิครอน XBB.1.16  แต่พบสายพันธุ์ใหม่  EG.5 โดยพบผู้ติดเชื้อแล้ว 23 ราย  ซึ่งขณะนี้ยังต้องระบุไม่ได้ชัดเจนว่า สายพันธุ์นี้จะ แพร่เร็วและป่วยรุนแรงหรือไม่ คงต้องรอข้อมูลมากกว่านี้  แต่จากการสันนิษฐาน น่าจะเหมือนสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ ที่แพร่เร็วขึ้นแต่อาการไม่รุนแรง ซึ่งทุกวันนี้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง  

“ในแต่ละสัปดาห์พบว่า XBB.1.15 ลดลงชัดเจน ส่วนที่ยังพบขึ้นๆลงๆ ก็มี XBB.1.16   BA.2.75 ฯลฯ แต่สายพันธุ์ที่ขึ้นชัดเจน คือ EG.5 ตัวนี้น่าจะเบียดตัวอื่นในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตาม 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา(ตรวจเป็นรอบเพื่อส่ง GISAID) โดยก่อนหน้าที่เราเจอ EG.5 เจอไป 15 ราย ขณะนี้เจอเพิ่มอีก 8 ราย รวมทั้งหมด 23 ราย จึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไทย แต่ ณ ปัจจุบันไทยยังเจอ XBB.1.16” นพ.ศุภกิจ กล่าว

สำหรับสายพันธุ์ HK.3 ไม่ใช่สายพันธุ์ที่เกิดขึ้นใหม่  จากการสืบค้นพบว่า คือ EG.5.1.1.3 ปัจจุบันพบใน 12 ประเทศ  พบมากที่สุดใน จีน ส่วนไทยพบ 2 ราย ไม่ใช่ 3 รายตามข่าว เป็นครอบครัวเดียวกัน สัญชาติไทย อยู่ในกทม.  เป็นเพศชายอายุ 65 ปี และเพศหญิงอายุ 11 ปี  ขณะนี้หายดีแล้ว ไม่ได้มีอาการหนักอย่างไร

อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์  HK.3 พบการกลายพันธุ์ตรงโปรตีนหนาม เปลี่ยนตำแหน่ง 455 จาก L ไปเป็น F และบางส่วนสลับจาก F ไปเป็น L โดยมีข้อสันนิษฐานว่า จะเพิ่มความสามารถในการเข้าสู่เซลล์ แพร่เชื้อเร็วขึ้น หรือหลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้นหรือไม่  แต่ข้อมูลนี้ยังไม่ชัดเจน ต้องติดตามข้อมูลต่อไป และยังตอบไม่ได้ชัดเจนว่า เป็นสายพันธุ์ที่ติดเร็วขึ้นกว่าเดิมถึง 95% หรือไม่ ต้องติดตามดูสถานการณ์อีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์

ส่วนสายพันธุ์ BA.2.86 ที่พบ 21 รายในฐานข้อมูล GISAID ซึ่งเป็นรายงานพบจากทั่วโลก  ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยในไทย  แต่ยังต้องเฝ้าระวังต่อไป  เนื่องจากมีข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์ Dr.Leshan ไปสุ่มตรวจน้ำเสียเก็บจากกรุงเทพมหานครในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม และนำมาถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อหาเชื้อ จนบอกว่ามีสายพันธุ์ BA.2.86  ซึ่งของไทยเจอแต่ในน้ำ ไม่ได้เจอในผู้ป่วย  และนักวิทยาศาสตร์ ยังไม่สรุปว่า สายพันธุ์นี้พบเจอในไทย เพราะการตรวจในน้ำ อาจเจอสารพันธุกรรมที่คล้ายไวรัสตัวนี้ได้  จึงต้องเฝ้าระวังกันต่อไป