สดร. นำภาพดวงจันทร์ใกล้และไกลโลก มาเทียบให้เห็นกันชัด ๆ มีเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่ากันถึง 14% ความสว่างเพิ่มขึ้นถึง 30% พร้อมชมภาพซูเปอร์บลูมูน และดาวเสาร์ในม่านเมฆ พลาดชมปรากฏการณ์บูลมูน รออีก 3 ปีข้างหน้า
วันนี้ (31 ส.ค.66) เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. ได้นำภาพ ดวงจันทร์ใกล้-ไกลโลกมาเปรียบเทียบให้เห็น ขนาดของดวงจันทร์ที่ใหญ่ขึ้นอย่างชัดเจน โดยภาพซูเปอร์บลูมูน คืนวันที่ 30 สิงหาคม 2566 เวลาประมาณ 20:15 น. ระยะห่างจากโลกประมาณ 357,185 กิโลเมตร เปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงในช่วงไกลโลกที่สุด เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลาประมาณ 01:40 น. ระยะห่างจากโลกประมาณ 405,813 กิโลเมตร แสดงให้เห็นขนาดปรากฏที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
คืนวันที่ 30 ถึงเช้าวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏใหญ่ที่สุดในรอบปี เรียกว่า “ซูเปอร์ฟูลมูน” และยังเป็นดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน หรือ “บลูมูน” จึงเรียกปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า “ซูเปอร์บลูมูน” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เมื่อเปรียบเทียบขนาดปรากฏของดวงจันทร์ขณะใกล้โลกที่สุดกับดวงจันทร์เต็มดวงขณะไกลโลกที่สุดแล้ว อาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าถึง 14% และสว่างเพิ่มขึ้นถึง 30% เป็นผลจากการที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากขึ้น ขนาดปรากฏใหญ่ขึ้น จึงมองเห็นสว่างยิ่งขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ ในช่วงหัวค่ำของคืนดังกล่าวยังมีดาวเสาร์ปรากฏสว่างข้างดวงจันทร์อีกด้วย
สำหรับปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 17 ตุลาคม 2567 ส่วนปรากฏการณ์บลูมูนครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2569 ซึ่งหลายพื้นที่ได้พลาดชมปรากฏการณ์ครั้งนี้ เนื่องจากฝนตก ฟ้าปิด แต่บางคนได้รอชมในช่วงใกล้รุ่ง พร้อมประทับใจกับความสวยงามของปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ครั้งนี้
นอกจากนี้ ยังได้นำภาพปรากฏการณ์ซูเปอร์ฟูลมูล และดาวเสาร์ที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกันในม่านเมฆมาให้ชมความงดงามกันอีกด้วย