พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

View icon 273
วันที่ 17 ก.ย. 2566
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 18.26 น. วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เขตราชเทวี ทรงเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งกองทัพบก โดยกรมแพทย์ทหารบก, ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จัดสร้างขึ้น เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมนาถชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา เมื่อปีพุทธศักราช 2555 ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี ตั้งอยู่เคียงข้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเป็นศูนย์การรักษาพยาบาลที่ทันสมัยครบวงจร รองรับการตรวจรักษาผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น และเพื่อให้ข้าราชการทหาร และครอบครัว ตลอดจนประชาชน ได้รับการดูแลรักษาที่มีมาตรฐานทัดเทียมระดับสากล

โอกาสนี้ พระราชทานของที่ระลึก แก่ผู้มีอุปการคุณในการจัดสร้างอาคารฯ ซึ่งมีขนาด 19 ชั้น พื้นที่ใช้สอยกว่า 97,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 400 เตียง เป็นอาคารรักษาพยาบาลที่ทันสมัย มีเทคโนโลยีและวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังชั้น 19 ของอาคารฯ ตลอดเส้นทางที่เสด็จพระราชดำเนินผ่าน มีประชาชนพร้อมใจกันใส่เสื้อสีเหลืองมารอรับเสด็จจำนวนมาก ต่างส่งเสียงทรงพระเจริญดังกึกก้อง

โอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการการทรงงานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมนาถชนนีพันปีหลวง เพื่อช่วยเหลือราษฎร ทั้งด้านการส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎร รวมถึงด้านการแพทย์และการสาธารณสุข จนเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ รวมทั้ง นิทรรศการประวัติและความเป็นมาในการจัดสร้างอาคารฯ และความเป็นเลิศทางการแพทย์ของ 4 ศูนย์ ภายในอาคารฯ ได้แก่ ศูนย์อุบัติเหตุและเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ตั้งอยู่บริเวณชั้น 1 มีความกว้างขวางรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น สามารถดูแลผู้ป่วยในหน่วยเวชศาสตร์ความดันบรรยากาศสูง, ศูนย์หลอดเลือดสมอง มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการตรวจสมองขาดเลือดเฉียบพลัน ด้วย CT Perfusion เพื่อตรวจแยกสมองที่ขาดเลือด และส่วนที่ยังไม่ขาดเลือด นำไปสู่การรักษาด้วยการเปิดหลอดเลือด รวมทั้งการผ่าตัดสมองด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสมองตัวแรกในเอเชียแปซิฟิก, ศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร โดยการส่องกล้องกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ที่สามารถให้การรักษาด้วยการตัดเนื้องอกออกผ่านการส่องกล้องในคราวเดียวกัน และศูนย์เวชศาสตร์ทหาร สาธิตการดูแลผู้ป่วยจากการรบเชิงยุทธวิธี บูรณาการด้วยเทคโนโลยี ทั้งอุปกรณ์ และยุทโธปกรณ์ ภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด และสถานการณ์ที่ยากลำบาก

นอกจากนี้ ยังมีศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โรงพยาบาลฯ ได้ปรับพื้นที่ชั้น 4 ของอาคารฯ เป็นโรงพยาบาลสนามความดันลบ รองรับผู้ป่วยติดเชื้อ จำนวน 100 เตียงได้อย่างรวดเร็ว ทำให้โรงพยาบาลมีขีดความสามารถในการดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก ในสถานการณ์ที่ประเทศต้องการความร่วมมือทางด้านสาธารณสุข และยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ของแพทย์ พยาบาล และสหสาขาวิชาชีพ อันจะเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติต่อไป

ข่าวอื่นในหมวด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง